วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และปรินิพพาน
1. ประสูติ
เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเดิมของพระนาง เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้นพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ออกบวช จนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณอันประเสริฐสูงสุด) สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือว่าวันนี้เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า
2. ตรัสรู้
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ร่มพระศรีมหาโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี
การตรัสอริยสัจสี่ คือของจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ของพระพุทธเจ้า เป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน วันตรัสของพระพุทธเจ้า จึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่ให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกชาวพุทธทั่วไป จึงเรียกวันวิสาขบูชาว่า วันพระพุทธ(เจ้า) อันมีประวัติว่า พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้า "ฌาน" เพื่อให้บรรลุ "ญาณ" จนเวลาผ่านไปจนถึง ...
* ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ" คือทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น
* ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
* ยามสาม : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือรู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจสี่ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งขณะนั้น พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา
ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ (อริยสัจ ๔) หรือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่...
-
ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
-
สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
-
นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และ
-
มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์
ทั้ง ๔ ข้อนี้ถือเป็นสัจธรรม เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบ เป็นสัจธรรมชั้นสูง ประเสริฐกว่าสัจธรรมสามัญทั่วไป
3. ปรินิพพาน
เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ร่มไม้รัง (ต้นสาละ) คู่ ในสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป)
การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ถือเป็นวันสำคัญของ ชาวพุทธทั่วโลกเพราะชาวพุทธทั่วโลกได้สูญเสียดวงประทีป ของโลก เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่และครั้งสำคัญชาวพุทธทั่วไปมีความเศร้าสลด เสียใจและอาลัยสุดจะพรรณนา อันมีประวัติว่าเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมมาเป็นเวลานานถึง ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก
ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีนั้น ได้มีปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อสุภัททะขอเข้าเฝ้า และได้อุปสมบทเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้าย เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน ๖ นั้น
วันวิสาขบูชาวันหยุดสากล ตามมติองค์การสหประชาชาติ
ความสำคัญของวันวิสาขบูชา คือเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาเอกของโลก เหตุที่ทางองค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญแก่วันนี้ มิใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของ ชาวพุทธทั่วโลกเพียงอย่างเดียว แต่จะยังประโยชน์สำคัญยิ่งต่อชาวโลกในข้อที่ว่า "พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ควรจะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสันติภาพถาวร ให้เกิดขึ้นแก่มวลมนุษยชาติทั่วโลกในอนาคตอีกด้วย" เพราะ การประกาศวันวิสาขบูชาให้เป็นวันหยุดสากล (International Recognition of the Day of Vesak) นั้น หมายถึงว่า จะได้เป็นวันหยุดที่สำคัญยิ่ง ของบรรดาประเทศสมาชิก ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๑๕๙ ประเทศ
โดยปกติทั่วไปแล้ว ประเทศไทยเรานั้น ในฐานะที่เป็นประเทศพุทธศาสนา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐(มาตรา ๙ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก) และตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
ดังนั้น ทางคณะสงฆ์โดยมติมหาเถรสมาคม ได้ออกประกาศชักชวนให้วัดวาอารามและชาวพุทธทั่วไป ประดับธงชาติ ธงเสมาธรรมจักร ประดับโคมไฟ ตามวัดวาอารามและอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ข้อสำคัญที่สุด ก็คือ การประกาศชวนเชิญให้ชาวพุทธทั้งหลาย ได้สมาทานศีล ๕ ศีล ๘ งดเว้นจากอบายมุข บำเพ็ญจิตภาวนา แผ่เมตตาส่งความปรารถนาดีและความสุข ไปสู่มวลหมู่มนุษย์และสรรพสัตว์ทั่วโลก อย่างน้อยเป็นเวลา ๗ วัน
ดังนั้น วันวิสาขบูชาปีนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ทางองค์การสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่ นครนิวยอร์ค ในสมัยการประชุมครั้งที่ ๕๔ ตามระเบียบวาระการประชุมที่ ๑๗๔ ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ได้ประกาศรับรองให้ วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดสากลขององค์การสหประชาชาติ โดยมีประเทศต่าง ๆ ทั้งที่นับถือพระ พุทธศาสนาและมิได้นับถือพระพุทธศาสนาต่างพากันให้การรับรองสนับสนุนอย่าง ท่วมท้น และในเรื่องนี้ ก็ควรที่ประเทศซึ่งมิได้นับถือพระพุทธศาสนา จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน จากวันหยุดอันสำคัญนี้ด้วย กล่าวคือ "การประกาศชวนเชิญให้มวลประชาชาติของตน หยุดการกระทำความชั่วทุกชนิด ให้ทุกคนหันมาสร้างสรรในสิ่งที่ดีงาม และจากข้อนี้ แม้แต่ทหารที่อยู่ในสมรภูมิสงคราม ก็ควรที่จะได้หยุดการเข่นฆ่า ทำลายล้างกันอย่างน้อยเป็นเวลา ๗ วันด้วย" หากประชาชาติทั่วโลกได้มาร่วมมือร่วมใจกันสร้างสันติภาพที่แท้จริงและถาวรให้เกิดขึ้นแก่โลกเรานี้โดยการยึดหลักธรรม ๕ ประการ คือ
๑. การไม่เบียดเบียนเข่นฆ่าซึ่งกันและกัน
๒. การไม่ประพฤติตนเป็นคนทุจริตคดโกงต่อบุคคลอื่นและต่อประเทศชาติบ้านเมือง
๓. การไม่ล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพและอธิปไตยของกันและกัน
๔. มีความจริงใจในสนธิสัญญาและสัจวาจาต่าง ๆ ที่เคยให้ไว้แก่กันและกัน
๕.ไม่หลงไหลมัวเมาดื่มเสพย์ในสิ่งเสพติดให้โทษทั้งหลาย
ทั้งหมดนี้ ก็จะทำให้วัตถุประสงค์หลักที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้ ๔ ประการ คือ
๑. เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์รุ่นต่อไป ให้ปลอดภัยจากสงคราม
๒.ให้มีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ๑
๓. สร้างความยุติธรรมและความเคารพในพันธกรณีระหว่างชาติ
๔. เสริมสร้างความก้าวหน้าทางสังคม ตลอดถึงสร้างมาตรฐานของชีวิตให้ดีขึ้น
ทั้งหมดนี้ก็จะบรรลุเป้าหมาย ตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้อย่างแน่นอน
|