หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
|
มุตโตทัย
(ลิขิตธรรมโดย หลวงปู่มั่น )
|
|
|
1. การปฏิบัติเป็นเครื่องยังพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ธรรมของพระตถาคต เมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชน แล้วย่อมกลายเป็นของปลอม(สัทธรรมปฏิรูป) ไป แต่ถ้าเข้าไปประดิษฐานในจิตสันดานของพระอริยเจ้าแล้วไซร์ ย่อมเป็นของบริสุทธิ์แท้จริงและเป็นของไม่ลบเลือนด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อยังเพียรแต่เรียนพระปริยัติธรรมฝ่ายเดียว จึงยังใช้การไม่ได้ดี ต่อเมื่อมาฝึกหัดปฏิบัติจิตใจ กำนัดเหล่ากะปอมก่า คืออุปกิเลสแล้วนั่นแหละ จึงจะยังประโยชน์ให้สำเร็จแต็มที่ และทำให้พระสัทธรรมบริสุทธิ์ ไม่วิปลาสคลาดเคลื่อนจากหลักเดิมด้วย
|
|
|
2. ฝึกตนดีแล้วจึงฝึกผู้อื่น ชื่อว่าทำตามพระพุทธเจ้า
ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถาเทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา
สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาพุทธเจ้า ทรงทรมารฝึกหัดพระองค์ จนได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิณาณ เป็น พุทฺโธ ผู้รู้ก่อน แล้วจึงเป็น ภควา ผู้ทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ สตฺถา จึงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้ฝึกบุรุษ ผู้มีอุปนิสัยบารมี ควรแก่การทรมานในภายหลัง จึงทรงเป็นพระคุณปรากฏ กลฺยาโณ กิตฺติสทฺโท อพฺภุคฺคโต เสียงเกียรติศัพท์อันดีงามของพระองค์ย่อมฟุ้งเฟื่องไปในจตุรทิศ จนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้พระอริยสงฆ์สาวกเจ้าทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วก็เช่นเดียวกัน ปรากฏว่าท่านฝึกฝนทรมารตนได้ดีแล้ว จึงช่วยพระบรมศาสดาจำแนกธรรมสั่งสอนประชุมชนในภายหลัง ท่านจึงมีเกียรติคุณปรากฏเช่นเเดียวกันกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าบุคคลไม่ทรมานตนให้ดีก่อนแล้ว และทำการจำแนกแจกธรรมสั่งสอนไซร้ ก็จักเป้นผู้มีโทษปรากฏว่า ปาปโก สทฺโทฺหติ คือเป็นผู้มีเสียงชั่วฟุ้งไปในจตุรทิศ เพราะโทษที่ไม่ทำตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์สาวกเจ้าในกาลก่อนทั้งหลาย
|
|
|
6. มูลการของสังสารวัฏฏ์ ( ฐีติภูตํ อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา อุปาทานํ ภโวชาติ)
คนเราทุกรูปทุกนามที่ได้กำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ล้วนแล้วแตามีที่เกิด ทั้งสิ้น กล่าวคือ มีบิดามารดาเป็นแดนเกิด ก็แลเหตุใดท่านจึงบัญญัติปัจจยาการ แต่เพียงว่า อวิชฺชา ปจฺจยา ฯลฯ เท่านั้น อวิชาเกิดมาจากอะไร? ท่านหาได้บัญญัติไว้ไม่ พวกเราก็ยังมีบิดามารดา อวิชชาก็ต้องมีพ่อแม่เหมือนกัน ได้ความตามบาทพระคาถาเบื้องต้นว่า ฐีติภูตํ นั่นเองเป็นพ่อแม่ของอวิชชา ฐีติภูตํ ได้แก่ จิตดั้งเดิม เมื่อ ฐีติภูตํ ประกอบไปด้วย ความหลง จึงมีเครื่องต่อกล่าวคือ อาการของอวิชชาเกิดขึ้น เมื่อมีอวิชชาแล้ว จึงเป็นปัจจัยให้ปรุงแต่เป็นสังขารพร้อมกับความเข้าไปยึดถือ จึงเป็นภาพชาติ คือต้องเกิดก่อต่อกันไป ท่านเรียกปัจจยาการ เพราะเป้นอาการสืบต่อกันวิชชาและอวิชชาก็ต้องมาจาก ฐีติภูตํ เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อ ฐีติภูตํ ประกอบไปด้วยอวิชชา จึงไม่รู้เท่าอาการทั้งหลาย แต่เมื่อ ฐีติภูตํ ประกอบด้วยวิชชา จึงรู้เท่าอาการทั้งหลายตามความเป็นจริงนี่พิจารณาด้วยวุฎฐานคามินีวิปัสสนา รวมใจความว่า ฐีติภูตํ เป็นตัวการดั้งเดิมของสังสารวัฎ (การเวียนว่ายตายเกิด) ท่านจึงเรียกชื่อว่า " มูลตันไตร" เพราะฉะนั้น เมื่อจะตัดสังสารวัฏให้ขาดสูญจึงต้องอบรมบ่มตัวการดั้งเดิมให้มีวิชชารู้ เท่าทันอาการทั้งหลายตามความเป็นจริงก็จะหายหลง แล้วไม่ก่ออาการทั้งหลายใดๆอีก ฐีติภูตํ อันเป็นมูลการก็หยุดหมุน หมดการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏด้วยประการนี้
|
|
|
11. การทรมานตนของผู้บำเพ็ญเพียร ต้องให้พอเหมาะกับอุปนิสัย
นายสารถีผู้ฝึกมามีชื่อเสียงคนหนึ่ง มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลถามถึงวิธีทรมารเวไนย พระองค์ทรงย้อนถามนายสารถีก่อนถึงการทรมารม้า เขาทูลว่ามี ม้า อยู่ 4 ่ชนิด คือ 1. ทรมานง่าย 2. ทรมานอย่างกลาง 3. ทรมาน ยากแท้ 4. ทรมานไม่ได้เลย ต้องฆ่าเสีย พระองค์จึงตรัสว่า เราก็เหมือนกัน 1. ผู้ทรมานง่ายคือ ผู้ปฏิบัติทำจิตรวมง่าย ให้กินอาหารเพียงพอเพื่อบำรุงร่างกาย 2. ทรมานอย่างกลาง คือผู้ทำจิตไม่ค่อยจะลง ให้กินอาหารแต่น้อยอย่าให้มาก 3. ทรมานยากแท้ คือผู้ปฏิบัติทำจิตลงยากแท้ ไม่ต้องให้กินอาหารเลย แต่ต้องเป็น อตฺตญฺญู รู้กำลังของตนว่าจะทนทานได้สักเพียงไร แค่ไหน 4. ทรมานไม่ได้เลยต้องฆ่าเสียคือ ผู้ปฏิบัติทำจิตไม่ได้เป็นปทปรมะ พระองค์ทรงชักสะพานเสีย กล่าวคือ ไม่ทรงสั่งสอน อุปมาเหมือนฆ่าทิ้งเสียฉะนั้น
|
|
|
13. วิสุทธิเทวาเท่านั้น เป็นสันตบุคคลแท้ ( อกุปฺปํ สพฺพธมฺเมสุ เญยฺยธมฺมา ปเวสฺสนฺโต)
บุคคลผู้มีจิตไม่กำเริบในกิเลสทั้งปวง รูปธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นพหิทธาธรรม ทั้งที่เป็นอัชฌัตติกาธรรม สนฺโต จึงเป็นผู้สงบระงับสันตบุคคลเช่นนี้แลที่จะบริบูรณ์ ด้วย หิริ โอตตัปปะ มีธรรมบริสุทธิ์ สะอาด มีใจมั่นคงเป็นสัปบุรุษผู้ทรงเทวธรรมตามความในพระคาถา ว่า หิริ โอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสนา หิตา สนฺโต สปฺปริสา โลเก เทว ธมฺมาติ วุจฺจเร อุปัตติเทวา ผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ วุ่นวายอยู่ด้วยกิเลส เหตุไฉนจึงจะเป็นสัจตบุคคลได้ ความในพระคาถานี้ย่อมต้องหมายถึง วิสุทธิเทวา คือพระอรหันต์แน่นอน ท่านผู้เช่นนั้นเป็นสันตบุคคลแท้ สมควรจะเป็นผู้บริบูรณ์ด้วย หิริ โอตตัปปะ และสุกธรรม คือ ความบริสุทธิ์แท้
|
|
23. เรื่อง วาสนา ( กุศลวาสนา อกุศลวาสนา อัพยากตวาสนา)
อัธยาศัยของสัตว์ เป็นมาแล้วต่างๆคือ ดี เลว และกลางๆ วาสนาก็เป็นไปตามอัธยาศัย คือวาสนายิ่งกว่าตัว วาสนาเสมอตัว วาสนาที่เลวทราม บางคนเป็นผู้มีวาสนายิ่งในทางดีมาแล้ว แต่คบกับพาล วาสนาก็อาจเหมือนคนพาลได้ บางคนวาสนายังอ่อนแต่คบกับบัณฑิต วาสนาก็เลื่อนขึ้นไปเป็นบัณฑิต บางคนคบมิตรเป็นกลางๆ ไม่ดี ไม่ร้าย ไม่หายนะ ไม่เสื่อมทราม วาสนาพอประมาณ สถานกลาง ฉะนั้น บุคคลถึงพยายามคบบัณฑิต เพื่อเลื่นภูมิวาสนาของตนให้สูงขึ้นไปโดยลำดับ
|
|
27. เรื่อง ข้อปฏิบัติเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ
ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ไม่มีปัญหา โอปนยิโก น้อมจิตเข้ามาพิจารณากาย วาจา จิต อกาลิโก อันเป็นของมีอาโลโกสว่างโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญูหิ อันปราชญ์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า และพระอริยสาวกเจ้า ทั้งหลายผู้น้อมเข้ามาพิจารณาของมีอยู่นี้ ได้รู้แจ้งจำเพาะตัวมาแล้ว เป็นตัวอยบ่างไม่ใช่ว่ากลาลนั้นจึงจะมี กาลนี้จึงจะมี ย่อมมีอยู่ทุกกาล ทุกสมัย ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ได้เฉพาะตัว คือผิดก็รู้จัก ถูกก็รู้จักในตนของตนเอง ดีชั่วอย่างไร ตัวของตัวย่อมรู้จักดีกว่าผู้อื่น ถ้าเป็นผู้หมั่นพินิจพิจารณาไม่มัวประมาทเพลิดเพลินเสีย
ตัวอย่างที่มีมาแล้วคือ มาณพ 16 คน ซึ่งเป็นศิษย์ของพาวรีพาหมณ์ ท่านเหล่านั้นเจริญฌาณกสิณติดอยู่ในรูปฌานและอรูปฌาน พระบรมศาสดาจารย์จึงตรัสสอนให้พิจารณาของมีอยู่ในตนให้เห็นแจ้งด้วยปัญญา ให้รู้ว่ากามภพเป็นเบื้องต่ำ รูปภพเป็นเบื้องกลาง อรูปภพเป็นเบื้องบน ปัจจุบันเป็นท่ามกลาง แล้วชักเข้ามาหาตัวอีก ให้รู้ว่า อุทฺธํ อโธ ติริยญูจาปิมชฺเฌ เบื้องต่ำแต่ปลายาผมลงไป เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องขวางสถานกลางท่านเหล่านั้นมาพิจารณาอยู่อย่างนี้ ปจฺจตฺตํ จึงรู้เฉพาะขึ้นที่ตัวของตัวโดยแจ่มแจ้ง สิ้นความสงสัยข้อปฏิบัติ ไม่ต้องไปเที่ยวแสวงหาที่อื่นให้ลำบาก
|
|
|
28. เรื่อง ได้ฟังธรรมทุกเมื่อ
ผู้ปฏิบัติพึงใช้อุบายปัญญาฟังธรรมเทศนาทุกเมื่อ ถึงจะอยู่คนเดียวก็ตาม คือ อาศัยการสำเหนียก กำหนดพิจารณาธรรมอยู่ทั้งกลางวัน กลางคืน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นรูปธรรมที่มีอยู่ ปรากฏอยู่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีอยู่ปรากฎอยู่ได้ยินอยู่ ได้สูดดม ลิ้ม เลีย และสัมผัสอยู่ จิตใจเล่า? ก็มีอยู่ ความคิดนึกรู้สึกในอารมณ์ต่างๆ ทั้งดีและร้ายก็มีอยู่ ความเสื่อม ความเจริญทั้งภายในภายนอกก็มีอยู่ ธรรมชาติอันมีอยู่โดยธรรมดา เขาแสดงความจริงคือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ให้ปรากฏอยู่ทุกเมื่อ เช่น ใบไม้มันเหลืองหล่นร่วงลงมาจากต้นก็แสดงความไม่เที่ยงให้เห็น ดังนี้เป็นต้น เมื่อผู้ปฏิบัติมาพินิจพิจารณาด้วยสติปัญญา โดยอุบายนี้อยู่เสมอแล้ว ชื่อว่าได้ฟังธรรมอยู่ทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคือแลฯ |
|
|
|