คำว่า ‘ภิกษุ-สมณะ-พระ-สงฆ์’ ที่ดูเหมือนเป็นคำธรรมดาที่ใช้เรียกนักบวชได้เหมือนๆ กันนั้น แต่จริงๆ แล้ว แต่ละคำมีที่มาและความหมายต่างกัน ดังที่ รศ.ดนัย ไชยโยธา ได้เขียนไว้ในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ดังนี้
๐ ภิกษุ-ภิกขุ
ภิกษุ เป็นคำภาษาสันสกฤต ส่วนภิกขุ เป็นคำภาษาบาลี เป็นนักบวชชายในพระพุทธศาสนา แปลตามคำศัพท์ว่า ผู้ขอ คือ สละโลก สละเคหสถาน และสละทรัพย์สมบัติ เพื่ออุทิศตนศึกษาปฏิบัติและเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยที่ผู้อื่นให้ คนจำนวนมากในสมัยพุทธกาลได้ออกบวชถือเพศบรรพชิต มิได้ประกอบอาชีพ อยู่ได้ด้วยปัจจัยที่ผู้เลื่อมใสนำมาให้ ก็ถือว่าเป็นผู้ขอเหมือนกัน แต่ไม่เรียกว่าภิกษุ เรียกว่า ดาบส บ้าง มุนี บ้าง ฤาษี บ้าง ส่วนไทยใช้คำเรียกนักบวชชายในพระพุทธศาสนา เช่น พระภิกษุ พระสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์
๐ สมณะ
คำว่า สมณะ เป็นคำภาษาบาลี แปลว่า ผู้สงบ ประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาล เรียกนักบวชในลัทธิหรือศาสนานั้นโดยทั่วไปว่า สมณะ ชาวอินเดียที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนา เรียกพระพุทธเจ้าว่า สมณโคดม ซึ่งหมายถึงนักบวชแห่งตระกูลโคตมะ
คำว่า สมณะ ตามความหมายดั้งเดิม หมายถึง ผู้ที่ต้องมีความสงบ น่าเลื่อมใส น่าศรัทธา มีวัตรปฏิบัติควรแก่การนับถือ แต่ความหมายของคำว่า สมณะ ในพระพุทธศาสนามีความลึกซึ้งกว่าความหมายเดิมมาก เพราะผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นสมณะนั้น ต้องเป็นพระอริยบุคคล ตัดกิเลสตัณหา ระงับบาปกรรมได้ทั้งสิ้นทั้งปวงแล้ว
๐ พระ
คำว่า ‘พระ’ หากไม่มีคำนำหน้าหรือตามหลัง หมายถึง พระภิกษุในพระพุทธศาสนา มาจากคำบาลีว่า ‘วร’ แปลว่า ‘ประเสริฐ’ โดยมีตัวอย่างต่างๆ ในการใช้ ดังนี้
๑. ใช้กับของคำสำคัญ ของสูง ของอันเป็นที่เคารพบูชา เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
๒. ใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง ดังนี้
๒.๑ เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวรหรือพระศิวะ พระนารายณ์หรือพระวิษณุ พระพิรุณ
๒.๒ พระเจ้าแผ่นดิน หรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ พระเจ้าอยู่หัว
๒.๓ สมณศักดิ์ชั้นราชาคณะ เช่น พระราชเวที พระเทพเมธี พระธรรมปัญญาบดี พระพรหมมุนี
๒.๔ นักบวช เช่น พระแดง พระจันทร์ พระวิมล
๒.๕ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระภูมิ พระเครื่อง
๒.๖ อิสสริยยศเจ้านาย เช่น พระรามคำแหง พระนเรศวร พระเทียรราชา
๐ สงฆ์
พระสงฆ์เป็นหนึ่งในพระรัตนตรัย หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตาม คุณสมบัติของผู้ที่จะได้ชื่อว่า ‘พระสงฆ์’ ต้องผ่านการบวชโดย วิธีใดวิธีหนึ่งใน ๓ วิธีดังต่อไปนี้
(๑) การบวชโดยพระพุทธเจ้าประทานให้เอง เรียก เอหิภิกขุอุปสัมปทา
(๒) การบวชโดยการรับไตรสรณคมน์ เรียก ติสรณคมนูปสัมปทา
(๓) การบวชที่คณะสงฆ์ยอมรับเข้าหมู่ โดยมติเอกฉันท์ เรียก ญัตติจตุตถกรรมวาจาอุปสัมปทา
พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนามี ๒ ประเภท ดังต่อไปนี้
๑. สมมติสงฆ์ แปลว่า พระสงฆ์โดยสมมติ หมายถึง บุรุษที่มีอายุ ๒๐ ปีครบบริบูรณ์ ผ่านการอุปสมบทถูกต้องตามหลักการญัตติจตุตถกรรมวาจาอุปสัมปทา สมมติสงฆ์แบ่ง ออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
๑.๑ สมมติสงฆ์ในแง่พระวินัย หมายเอาพระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ต่ำกว่านั้นไม่นับว่าเป็นสงฆ์ การกำหนดจำนวนแบ่งตามกิจกรรมแต่ละอย่างที่สงฆ์จะพึงกระทำ ดังนี้
- พระภิกษุ ๔ รูป เรียกว่า สงฆ์จตุวรรค ทำอุโบสถกรรมได้ คือ การประชุมกันฟังสวดสิกขาบท หรือศีล ๒๒๗ ข้อ เพื่อตรวจสอบความบริสุทธิ์ทุกกึ่งเดือน
- พระภิกษุ ๕ รูป เรียกว่า สงฆ์ปัญจวรรค ทำปวารณาได้ คือ การยอมตนให้พระภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนได้
- พระภิกษุ ๑๐ รูป เรียกว่า สงฆ์ทสวรรค ทำการอุปสมบทกุลบุตรได้
- พระภิกษุ ๒๐ รูป เรียกว่า สงฆ์วีสติวรรค ทำกิจกรรมได้ทุกชนิด
๑.๒ สมมติสงฆ์ในแง่พระธรรม หมายเอาพระภิกษุ แม้เพียงรูปเดียวที่ผ่านการอุปสมบทโดยถูกต้อง
๒. อริยสงฆ์ แปลว่า พระสงฆ์ที่เป็นพระอริยบุคคล หมายถึง ผู้บรรลุธรรมตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์เป็นที่สุด พระอริยสงฆ์นี้กำหนดเอาคุณธรรมเป็นตัวกำหนดคฤหัสถ์ผู้บรรลุธรรมตั้งแต่พระ โสดาบันขึ้นไปก็นับเป็นพระอริยสงฆ์ได้ แต่เดิมเรียกว่าสาวกสงฆ์
สมณะธรรม
สมณะ แปลว่า เป็นผู้มีความสงบ หมายเอาภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายมุ่งเอาพระนิพพาน ดังนั้นต้องบำเพ็ญสมณะธรรม สมณะธรรมมี 5 ประการ
1.อธิวาสะวะขันติ คือเราต้องมีความอดทนสูงเป็นพื้นฐาน
2.ปัญญา คือ มีปัญญาภายนอก ปัญญาภายใน ปัญญาภายนอกได้แก่ การฟัง การคิด ปัญญาภายในคือ การภาวนามะยะปัญญา จะเกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐาน 4 กาย เวทนา จิต ธรรม มีการกำหนดการกราบ เดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นเวทนานุปัสสนา มีการกำหนดชอบ ไม่ชอบ ง่วง ฟุ้ง สงสัยเป็นธัมมานุปัสสนาการกำหนดให้กำหนดอารมณ์อันใด ในสี่อันที่ชัดเจนที่สุด
3.ศีล คือ ให้รำพึงถึงศีลของสมณะ 227 ข้อ พยายามไม่ทอดทิ้ง
4.พยายามไม่ต้องกังวล เป็นห่วงในสิ่งใดๆ คือ ไม่กังวลในปัจจัย 4 ในการเรียน ในตระกูล ในหมู่คณะ ถ้าปราศจากความกังวลได้ อันนี้เป็นสมณะธรรมที่สูง
5.หน่วงเหนี่ยวเอาพระนิพพานเป็นจุดหมาย
ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะ
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ครั้งนั้น ชนทั้งหลายนั่งประชุมกันในราชสำนัก ได้ยกเรื่องเงินและทองขึ้นสนทนากันว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรย่อมยินดีและรับทองและเงิน
ในที่ประชุมนั้น มีนายบ้านชื่อมณีจูฬกะรวมอยู่ด้วย เขาได้กล่าวแก่ที่ประชุมนั้นว่า
“ นาย พวกท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะ พระสมณะไม่ยินดี และไม่รับทองและเงิน พระสมณะมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน ”
เมื่อนายบ้านได้ชี้แจงความจริงให้ที่ประชุมนั้นเข้าใจแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้น และกราบทูลต่อไปว่า
“ เมื่อข้าพระพุทธเจ้า กล่าวอยู่อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวคล้อยตามพระผู้มีพระภาค ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จ ชื่อว่าพยากรณ์ธรรมอันสมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกบางรูป ผู้กล่าวตามวาทะ ย่อมไม่ถึงฐานะที่ควรติเตียนหรือพระพุทธเจ้า ”
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า
“ เอาละนายบ้าน เธอพยากรณ์อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวคล้อยตามเรา ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ
ดูก่อนนายบ้าน ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะโดยแท้ สมณะไม่ยินดีทองและเงิน สมณะไม่รับทองและเงิน สมณะมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน ทองและเงินควรแก่ผู้ใด แม้กามคุณทั้งห้าก็ควรแก่ผู้นั้น กามคุณทั้งห้าควรแก่ผู้ใด เธอพึงจำผู้นั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า มีปกติมิใช่สมณะ มีปกติมิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร
เราจะกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษพึงแสวงหาบุรุษ แต่เราไม่กล่าวโดยปริยายไร ๆ ว่า สมณะยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน ”
กว่าจะเป็นสมณะ
หลวงพ่อชา สุภัทโท
"ใจของเรายังไม่สงบจาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ฉะนั้น...เราจึงมาปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อทำลายโลภ โกรธ หลง ออกจากใจของเรา ถ้าเอาโลภ หรือโกรธ หรือหลง อันนี้ออกจากใจเราแล้ว มันถึงจะเป็นความบริสุทธิ์ ถึงความเป็นพระแท้"
วันนี้ให้โอวาทพิเศษเฉพาะพระภิกษุสามเณร ให้พากันตั้งอกตั้งใจฟัง เรื่องอื่นที่เราจะมาศึกษาสนทนาให้ความเห็นกันนั้นนอกจากการประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัยแล้ว ไม่มี
ทุกท่านทุกองค์ให้พากันเข้าใจเสียว่า บัดนี้เรามีเพศเป็นบรรพชิตเป็นนักบวช ก็ควรประพฤติให้สมกับที่เป็นพระ เป็นเณร เพศฆราวาส เราเคยผ่านมา เคยเป็นมาแล้ว อยู่ในเพศที่มีลักษณะวุ่นวาย ไม่มีข้อวัตรปฏิบัติ ฉะนั้น เมื่อเราเข้ามาอยู่ในเพศของสมณะในพระพุทธศาสนาก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงจิตใจของเราให้ต่างจากฆราวาสการ พูดการจาการไปการมา การขบการฉัน การก้าวไปถอยกลับ ทุกอย่างให้สมกับบรรพชิต ที่ท่านเรียกว่า "สมณะ" ท่านหมายถึงผู้สงบระงับ แต่ก่อนเราเป็นฆราวาส ไม่รู้จักความหมายของสมณะ คือ ความสงบระงับล้วนแต่ปล่อยกายปล่อยใจให้ร่าเริงบันเทิงไปตามกิเลสตัณหา อารมณ์ดีก็พากันดีใจ อารมณ์ไม่ดีก็พากันเสียใจ นั่นเป็นไปตามอารมณ์ เมื่อจิตใจเป็นไปตามอารมณ์อันนั้น ท่านว่าคนไม่ได้รักษาเจ้าของ คนยังไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย จึงปล่อยใจไปกับความร่าเริงบันเทิงใจ ไปกับความทุกข์ โศกเศร้า ปริเทวะ ความร่ำไรรำพัน ไม่มีการยับยั้ง ไม่ได้พินิจพิจารณา
ในพระพุทธศาสนาของเรา เมื่อบวชเข้ามาเป็นเพศของสมณะแล้ว ก็ต้องมาทำกายของสมณะนั้น เป็นต้นว่า ศีรษะเราก็โกน เล็บเราก็ตัด เครื่องนุ่งห่มของเราก็เป็นเครื่องของผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นธงชัยของพระอริยะเจ้าทั้งหลาย เป็นธงชัยของพระพุทธเจ้า เป็นธงชัยของพระอรหันต์ ที่พวกเราเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานี้ได้มาอาศัยมูลหรือมรดกของพระบรมศาสดาของเรา จึงมีความเป็นอยู่ที่พอเป็นไปได้อย่างเช่นเสนาสนะที่อยู่อาศัย ก็อาศัยบุญคือผู้มีศรัทธาสร้างขึ้นมาอาหารการขบฉันก็ไม่ต้องทำ นี่ก็อาศัยมูลหรือมรดกที่พระบรมศาสดาของเราวางเอาไว้ ยาบำบัดโรค ผ้านุ่งห่มทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนแต่เรามาอาศัยมรดกของสัมมาสัมพุทธเจ้า บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้ว สมมุติว่าเป็นพระ เป็นพระโดยสมมุติยังไม่ได้เป็นพระแท้นะ เป็นพระโดยสมมุติ คือ เป็นพระเฉพาะกาย โกนผมห่มเหลืองเท่านี้แหละ เลยเป็นพระโดยสมมุติ ยังไม่เป็นพระจริงๆ สมมุติว่าพระเฉยๆเหมือนกันกับการที่เขาเอาไม้มาแกะสลัก สมมุติว่าเป็นพระพุทธเจ้าอย่างนั้น เอาปูนมาปั้นขึ้น เอาทองมาหล่อหลอมขึ้น สมมุติว่าเป็นพระพุทธเจ้า แต่ที่จริงไม่ใช่ เป็นทอง เป็นตะกั่ว เป็นโลหะ เป็นไม้ เป็นครั่ง เป็นหิน นั่นคือสมมุติ สมมุติเป็นพระพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าจริงๆ เป็นพระพุทธเจ้าโดยฐานสมมุติ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าแท้
เรานี้ก็เหมือนกัน ถูกกำหนดว่าเป็นพระ มาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ยังไม่เป็นพระหรอก เป็นแต่เพียงสมมุติยังไม่เป็นจริงๆ คือ จิตใจของเรานั้น เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จิตทั้งหลายยังไม่พรั่งพร้อม ความบริสุทธิ์ยังไม่ทันถึงที่ มีความโลภ มีความโกรธ มีความหลงกั้นไว้ ไม่ให้ความเป็นพระเกิดขึ้นมา เพราะสิ่งเหล่านี้เราถือว่ามีมาตั้งแต่ก่อนโน้น ตั้งแต่วันเกิด ตั้งแต่ชาติก่อนๆ มีโลภ มีโกรธ มีหลง หล่อเลี้ยงมาตลอดถึงทุกวันนี้ ฉะนั้น เมื่อเอาพวกนี้มาบวชจะให้เป็นพระ มันก็ยังเป็นพระสมมุติ คือยังอาศัยความโลภ อาศัยความโกรธ อาศัยความหลง นั่นแหละที่เป็นอยู่ในใจของเรานั้น ถ้าเป็นพระท่านก็ละพวกนี้ออก ละความโลภออกจากใจ ละความโกรธ ละความหลงออกจากใจหมดพิษหมดภัย ถ้ายังมีพิษอยู่ มันก็ยังไม่เป็น จะต้องละสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ออกให้ถึงให้ความบริสุทธิ์ ฉะนั้น เราจึงพากันมาริเริ่มที่จะทำลายความโลภ ทำลายความโกรธ ทำลายความหลง ซึ่งเป็นกิเลสส่วนใหญ่มีในตัวของทุกๆ ท่าน ทุกๆ องค์ มันกั้นเราไว้ในภพชาติทั้งหลาย ให้ถึงความสงบไม่ได้ก็เพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ขวางกั้นสมณะ คือ ความสงบให้เกิดขึ้นทางใจของเราไม่ได้ ถ้าเกิดขึ้นไม่ได้เราก็ยังไม่เป็นสมณะ ก็คือ ใจของเรายังไม่สงบจากความโลภ ความโกรธ ความหลงนั่นเอง ฉะนั้น เราจึงมาปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อทำลาย โลภ โกรธ หลง ออกจากใจของเราถ้าเอาโลภหรือโกรธหรือหลงอันนี้ออกจากใจของเราแล้ว มันถึงจะเป็นความบริสุทธิ์ ถึงความเป็นพระแท้ ที่เราปฏิบัติอยู่นี้ก็เรียกว่า เราเป็นพระโดยสมมุติ สมมุติเฉยๆ ยังไม่ได้เป็นพระ ฉะนั้นเรามาสร้างพระขึ้นในใจของเรา สร้างพระขึ้นทางใจ ไม่ใช่ทางอื่นทางใด
การที่จะสร้างพระขึ้นทางใจได้นั้น มิใช่เอาแต่ใจอย่างเดียว กายหนึ่ง วาจาหนึ่ง มันต้องเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน ก่อนที่กายจะทำได้วาจาจะทำได้ ก็เพราะมันเป็นจากใจ แต่ถ้าเป็นแต่ใจอย่างเดียว กายไม่ไปทำ วาจาไม่พูด มันก็เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นมันเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน พูดถึงใจ พูดถึงความสวยความงาม ความเกลี้ยงความเกลาของมันก็เหมือนพูดถึงไม้เสาที่มันเกลี้ยงแล้ว ไม้ที่เราเอาไปทำเสาทำกระดานต่างๆ ก่อนที่มันจะเกลี้ยงจะเกลา เขาจะทาชะแล็กเสร็จดูเป็นของงาม เราต้องไปตัดต้นไม้มาก่อน ตัดต้นตัดปลายซึ่งเป็นของหยาบๆ แล้วก็ไปผ่าเลื่อย อะไรต่างๆ เหล่านี้ ใจก็เหมือนกับต้นไม้นั่นแหละมันต้องผ่านของหยาบๆ มา ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่มันไม่เกลี้ยงไม่เกลานั้น ทำลายมาจนถึงความสวยงาม เป็นสัดส่วนได้ก็เพราะมันผ่านเหตุการณ์หยาบๆ มา
เหมือนกับนักปฏิบัติเรานั่นเอง ที่เรามาทำจิตใจให้บริสุทธิ์ระงับนั้นก็ดี แต่มันเป็นของยาก มันจะต้องผ่านมาจากข้างนอก คือ กาย วาจา ให้เข้ามาได้ก่อน จึงมาถึงความเกลี้ยงความเกลา ความสวยความงาม เหมือนกับเรามีโต๊ะมีเตียงอยู่แล้วอย่างนี้ สวยแล้ว งามแล้ว แต่ก่อนมันก็เป็นของหยาบ เป็นต้น เป็นลำ เราก็มาตัด ตัดต้นตัดใบผ่านของหยาบมา เพราะทางมันต้องเดินมาอย่างนั้น จึงมาเป็นโต๊ะเป็นเตียง จึงมาเป็นของสะสวยได้ บริสุทธิ์ไปด้วยดี ฉะนั้น หนทางเดินเข้าหาความสงบระงับที่ถูกต้อง ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติไว้นั้น ท่านบัญญัติศีลไว้ บัญญัติสมาธิไว้ บัญญัติปัญญาไว้ นี่คือหนทาง เป็นหนทางที่นำไปสู่ความบริสุทธิ์ นำไปสู่ความเป็นสมณะ เป็นหนทางที่ชำระโลก โกรธ หลง ออกได้ ฉะนั้น จะต้องเดินจากศีล เดินจากสมาธิ เดินจากปัญญา นี่ก็ไม่ได้ผิดแผกกันไปอย่างไร เทียบข้างนอกกับข้างในไม่ได้ผิดแผกกัน
ฉะนั้น ที่เราพากันมาอบรมบ่มนิสัยอยู่นี้ พากันฟังธรรมบ้าง พากันสวดมนต์ทำวัตรบ้าง พากันนั่งสมาธิบ้าง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้แหละมันขัดใจของเรา ขัดเพราะใจของเรามันมักง่าย เกียจคร้าน ไม่อยากทำอะไรให้กระทบกระทั่ง ให้ยากลำบาก มันไม่อยากเอา มันไม่ทำ พวกเราทั้งหลายจึงมาอุตสาห์อด ใช้ธรรมะคือความอดทน วิริยะคือความเพียร ฝ่าฟันพยายามทำมา อย่างกายของเรามันเคยสนุกคะนองเคยทำไปต่างๆ นานา จะมารักษามันก็ยากลำบาก วาจากของเรามันเคยพูดไม่ได้สังวรสำรวม ที่เรามาสังวรสำรวมจึงเป็นของยากลำบาก แต่ว่าถึงมันจะยากลำบากก็ช่างมัน เหมือนกับไม้ กว่าจะเอามาทำโต๊ะทำเตียงได้ มันยากลำบากก็ช่างมัน มันต้องผ่านตรงนั้น ถึงคราวเป็นโต๊ะเป็นเตียงได้ มันก็ต้องผ่านของหยาบๆ มา
เรานี้ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ที่ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นพระสงฆ์สาวกที่สัมฤทธิ์จิตไปแล้ว ก็ล้วนแต่เป็นปุถุชนมาบวชทั้งนั้น ปุถุชนเหมือนเรานี่แหละ มีอวัยวะแข้งขา มีหู มีตา มีโลภ มีโกรธ เหมือนกับเรา ลักษณะอะไรไม่ได้แปลกไปจากเราหรอกพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน สาวกของท่านก็เหมือนกัน ทั้งหลายเหล่านี้แหละ เอาแต่ของที่ยังไม่เป็นมาทำให้เป็น ที่ยังไม่งามทำให้งาม ที่ยังใช้ไม่ได้มาทำให้ใช้ได้ ตลอดกระทั่งถึงเราทุกวันนี้ ก็เอาลูกชาวบ้านมาบวช เป็นพ่อไร่พ่อนา พ่อค้าพ่อขาย เคยยุ่งเหยิงมาในกามารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงทั้งนั้นแหละ มาบวชในพระพุทธศาสนานี้ มาฝึกมาหัดท่านฝึกได้หัดได้ ฉะนั้น จึงทำความเห็นเสียว่ามันเหมือนกับพวกเราเป็นขันธ์เหมือนกัน มีกายเหมือนกัน มีเวทนา คือ สุข ทุกข์เหมือนกันสัญญาความจำได้หมายรู้เหมือนกัน สังขาร วิญญาณ ความปรุงแต่งเหมือนกัน มีความรู้ดี รู้ชั่ว ทุกอย่างเหมือนกันหมด ฉะนั้น เราก็อีกคนหนึ่ง ซึ่งมีสภาพอันเดียวกันกับรูปกับนามที่ท่านได้เป็นสาวกมาแล้วไม่ได้ผิดแผกอะไรกัน ท่านก็เป็นปุถุชนมาก่อนเหมือนกัน อันธพาลก็มีคนพาลก็มี ปุถุชนก็มี กัลยาณชนก็มี เหมือนกันกับเราไม่ได้ผิดแผกกันท่านเอาบุคคลอย่างนี้มาประพฤติปฏิบัติเพื่อสำเร็จมรรคผลได้ ทุกวันนี้ก็เอาคนอย่างนี้มาประพฤติปฏิบัติ มาบำเพ็ญเหมือนกัน มาบำเพ็ญ ศีล บำเพ็ญสมาธิ บำเพ็ญปัญญา
ศีล สมาธิ ปัญญา นี้เป็นชื่อของข้อปฏิบัติ เรามาปฏิบัติศีล ปฏิบัติ สมาธิ ปฏิบัติปัญญา ก็คือมาปฏิบัติที่เรานี่แหละ เราปฏิบัติที่เรานี้ถูก! ถูกศีลอยู่นี่ ถูกสมาธิอยู่นี่ เพราะอะไร เพราะกายก็อยู่ที่เรานี้ ศีลนี้ก็แสดงถึงกายทุกชิ้นส่วน อวัยวะทุกชิ้นส่วนนี้ท่านให้รักษา คำว่า ศีลนี้ท่านให้รักษากาย กายเราก็มีแล้วอย่างไรล่ะ เท้าก็มี มีแล้วกาย นี่คือที่รักษาศีล มันจะเป็นศีลเป็นธรรม คือมารักษาอยู่นี่ อันนี้มีแล้ววาจาคือคำพูดของเรา พูดเท็จก็ดี พูดส่อเสียดก็ดี พูดคำหยาบก็ดี พูดเพ้อเจ้อก็ดี เหล่านี้แหละ กายก็ดี ฆ่าสัตว์ก็ดี ลักทรัพย์ก็ดี ประพฤติผิดในกามก็ดี นั่นพูดง่ายๆ ตามบัญญัติ มันก็อยู่กับเรานี้ทั้งหมด มันมีอยู่แล้ว กายก็มี วาจาก็มีแล้ว มีอยู่กับเรานี่เอง ทีนี้เมื่อเรามาสำรวม คือ เรามาดูการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ท่านดูกายหยาบๆ นะ ฆ่าสัตว์ก็คือเอาฆ้อนเอากำปั้นนี้ไปฆ่ากันสัตว์น้อยใหญ่นั้นน่ะ หยาบเหมือนที่เราเคยทำมาแล้ว แต่ก่อนเราเคยทำมา ไม่ได้รักษาศีล เราก็ทำมาละเมิดมา ไม่ได้สำรวมวาจา พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ คำเพ้อเจ้ออย่างนี้แหละ พูดเท็จก็คือ พูดโกหกนั่นแหละ พูดคำหยาบก็คือพูดไปเรื่อย ไอ้หมู ไอ้หมา ฯลฯ พูดเพ้อเจ้อก็คือพูดเล่น สิ่งที่ไม่เป็นสาระประโยชน์ พูดไปว่าไป สิ่ง ทั้งหลายเหล่านี้ เราเคยเล่นเคยพูดมาแล้วทุกอย่าง ไม่ได้สำรวม การรักษาศีลก็คือ มาดูกาย มาดูวาจาของเรานี้
ใครจะเป็นคนดูล่ะทีนี้ จะเอาใครมาดู เวลาจะไปฆ่าสัตว์นั้น ใครเป็นคนรู้ มือนั้นหรือเป็นผู้รู้ หรือใครรู้ จะไปขโมยของเขาอย่างนี้ ใครเป็นผู้รู้ หรือมือนั่นเป็นผู้รู้ อันนี้เราก็จะรู้จักล่ะทีนี้ จะไปประพฤติผิดในกาม ใครเป็นผู้รู้ก่อน กายนี่หรือมันรู้ เราจะพูดเท็จอย่างนี้ ใครเป็นผู้รู้ก่อน เราจะพูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้ออย่างนี้ ใครรู้ก่อน ปากนั่นหรือมันรู้ หรือคำพูดมันรู้ก่อน นั่น ให้พิจารณาดูซิ ใครมันรู้ก็เอาผู้นั้นแหละรักษามัน ใครเป็นผู้รู้ก็เอาผู้นั้นแหละดู ผู้ใดรู้จัก ผู้ใดรู้ เอาผู้นั้นรักษา เอาผู้ที่มีมันพาผู้อื่นทำนั่นแหละ มันพาทำดี มันพาทำชั่ว เอาผู้ที่มันพาทำนั่นมารักษา จับโจรนั่นแหละมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน มาเป็นกำนันจับตัวนี้แหละมารักษาหมู่คณะ เอามันนั่นแหละมาดู มาพิจารณา ท่านว่าให้รักษากาย ใครเป็นผู้รักษา กายมันไม่รู้จักอะไรนะ กายน่ะเดินไปเหยียบไป ไปทั่ว มือนี้ก็เหมือนกัน มันไม่รู้จักอะไร มันจะจับนั่นแตะนี่มีผู้บอก มันจึงทำ จับอันนั้น จับแล้ววาง มันก็วางอันนั้น เอาอันโน้นอีกมันก็ทิ้งอันนี้เอาอันนั้น ต้องมีผู้บอกทั้งนั้น มันไม่รู้จักอะไรหรอก ต้องผู้อื่นบอกผู้อื่นสั่ง ปากของเราก็เหมือนกัน มันจะโกหก มันจะซื่อสัตย์ สุจริต มันจะพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบทั้งหลายเหล่านี้แหละมันมีผู้บอกทั้งนั้น
ฉะนั้น การปฏิบัติจึงต้องตั้ง "สติ" คือ ความระลึกได้ไว้ในผู้รู้ ผู้ที่มันรู้จักนั้น ให้ลักของเขา ให้ฆ่าสัตว์ ให้ผิดในกาม ให้พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดเล่นพูดหัว ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ผู้รู้พาให้พูด นี่มันมีที่อยู่ อยู่ที่นั่น เอาความรู้หรือเอาสติ คือ ความระลึกได้เสมอ ไว้กับผู้รู้นั้นแหละ ให้ผู้นั้นรักษา คือ "รู้" นั่นเอง ท่านจึงบัญญัติไว้หยาบๆ ฆ่าสัตว์เป็นบาป ผิดศีล ลักทรัพย์ก็ผิด ประพฤติผิดในกามผิด พูดเท็จผิด พูดคำหยาบพูดเพ้อเจ้อผิด เราจำไว้ อันนี้เป็นบัญญัติของท่านอาญาของพระพุทธเจ้า ทีนี้เราก็มาระวัง ผู้ที่เคยละเมิดมาแล้ว เคยสั่งเรา เมื่อก่อนมันเคยสั่งเรา เคยสั่งให้ฆ่าสัตว์ ให้ลักทรัพย์ ให้ประพฤติผิดในกาม ให้พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดไม่ได้ สังวรสำรวมต่างๆ ร้องรำทำเพลง ผิวปาก ดีดตีสีซอทั้งหลาย เหล่านี้แหละ ผู้ใดเป็นผู้สั่ง กลับมาให้ผู้นั้นเป็นผู้รักษาเลย เอาสติคือความรู้สึกนั้นระลึก ให้มันสำรวมอย่างนั้น ให้หมั่นรักษาตัวเอง รักษาให้ดีถ้ามันรักษาได้นะ
กายก็รักษาไม่ยาก เพราะอยู่ใต้ปกครองของจิต วาจาก็รักษาไม่ยากเพราะอยู่ใต้ปกครองของจิต ฉะนั้น การรักษาศีลหรือการรักษากายวาจานี้ เป็นของไม่ยาก เรามาทำความรู้สึกทุกๆ อิริยาบถ ไม่ว่าการยืน เดิน นั่ง นอน ทุกๆ วาระของเรา ก่อนที่จะทำอะไรให้รู้ก่อนเลย ก่อนที่จะพูดจะจาอะไรก็ให้รู้ก่อน อย่าให้ทำก่อน พูดก่อน ให้รู้เสียก่อน จึงพูดจึงทำ ให้มี สติ คือ ความระลึกได้ ก่อนที่จะทำจะพูดอะไรก็ช่างต้องให้ระลึกได้เสียก่อน มาหัดสิ่งนี้ให้คล่องแคล่ว หัดให้เท่าทันคล่องแคล่วระลึกได้ ระลึกได้แล้วจึงทำ ระบึกได้แล้วจึงพูดจึงจา มาตั้งสติไว้ในใจอย่างนี้แหละ ให้ผู้รู้อันนี้เอง เองผู้รู้รักษาตัวเอง เพราะมันเป็นผู้ทำเอง มันเป็นผู้ทำ จะให้ผู้อื่นมารักษาไม่ได้ ต้องให้มันรักษามันเอง ถ้ามันไม่รักษามันเองก็ไม่ได้ นี่ ท่านถึงว่า การรักษาศีลนี้รักษาไม่ยาก คือมารักษาเจ้าของนี่แหละ ทีนี้หากว่าโทษทั้งหลายทั้งปวงมันจะเกิดขึ้นทางกายวาจาของเรา ถ้าหากว่ามีสติอยู่ มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เราก็รู้จัก รู้จักผิด รู้จักถูก เพราะฉะนั้น นี่คือการรักษาศีลการรักษาศีลนี้ขึ้นอยู่กับเรา กายวาจาอันนี้เป็นเบื้องแรก
ถ้าเรารักษากาย รักษาวาจาได้ งาม สวยงาม สบาย จรรยา มารยาทต่างๆ นานา การไปการมา การพูดจา งามเลย งามอยู่ในลักษณะนั้น มันงาม คือมีผู้ดัดแปลง มีผู้รักษา มีผู้พิจารณาอยู่อย่างนั้น เปรียบคล้ายกับบ้านหรือศาลาหรือกุฏิของเรา มีผู้กวาดมีผู้รักษาอยู่เสมอ ตัวกุฏิก็งาม ลานกุฏิก็งาม ไม่เศร้าหมอง ก็เพราะมีคนรักษาอยู่มันจึงสวยได้ งามได้ กายวาจาของเราก็เช่นกัน ถ้ามีคนรักษามันก็งาม ความชั่วช้าลามกสกปรกเกิดขึ้นมาไม่ได้ มันงาม "อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ" งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในเบื้องปลาย หรือ ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในเบื้องปลาย นี่คืออะไร คือ ศีลหนึ่ง สมาธิหนึ่ง ปัญญาหนึ่ง มันงาม เบื้องต้นก็งาม ถ้างามเบื้องต้น เบื้องกลางก็งาม นี่ถ้าหากว่าเราสังวรสำรวมได้ตามสบาย ระวังอยู่เสมอๆจนใจของเรานั้นตั้งมั่นอยู่ในการรักษา ในการสังวรสำรวม ใฝ่ใจอยู่เสมอ มั่นอยู่อย่างนั้นแหละ อาการที่มั่นอยู่ในข้อวัตร มั่นอยู่ในการสังวรสำรวมทั้งหลายเหล่านี้ อาการอย่างนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สมาธิ"
อาการที่สำรวม รักษากายไว้ รักษาวาจาไว้ รักษาอะไรต่างๆ ทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น มันรักษาไว้ อาการที่รักษาอยู่เสมอๆ อย่างนี้สำรวมอยู่อย่างนี้ท่านเรียกว่า "ศีล" อาการที่มั่นในการสังวรสำรวมอยู่นั้น ใช้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า "สมาธิ" คือความตั้งใจมั่น มั่นอยู่ในอารมณ์นั้นมั่นอยู่ในอารมณ์นี้ สังวรสำรวมอยู่เสมอเลยทีเดียว อาการนี้เรียกว่าสมาธิ สมาธิอันนี้เป็นสมาธิชั้นนอก แต่ว่ามันก็มีอยู่ข้างใน อันนี้ก็ให้มีไว้ มันต้องมีอย่างนี้เสียก่อน เมื่อมันมั่นในสิ่งเหล่านี้แล้ว มีศีลแล้วมีสมาธิแล้ว อาการพินิจพิจารณาสิ่งที่มันจะผิดสิ่งที่มันจะถูก ถูกไหมหนอ ผิดไหมหนอ ใช่ไหมหนอ ทั้งหลายเหล่านี้ อารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา รูปมากระทบ เสียงมากระทบ กลิ่นมากระทบ โผฏฐัพพะมากระทบ ธรรมารมณ์กระทบ ทั้งหลายเหล่านี้ ผู้รู้จะเกิดขึ้น เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ชอบใจบ้าง รู้จักอารมณ์ดีบ้าง อารมณ์ไม่ดีบ้าง ทั้งหลายเหล่านี้แหละ จะได้เห็นหลายๆ อย่าง ถ้าเราสำรวมแล้วนะ จะเห็นหลายสิ่งหลากอย่างที่ผ่านเข้ามา มันแสดงปฏิกิริยาขึ้นทางจิต ทางผู้รู้มันจะได้รับการพิจารณา อาการที่มันสำรวมอยู่แล้วและก็มั่นอยู่ในความสังวรสำรวม อะไรผ่านมาในที่นั้นมันจะแสดงปฏิกิริยาขึ้นทางกาย ทางวาจา ทางใจ อันใดมันผิดหรือมันถูก ดีชั่วประการใด อาการเหล่านี้เกิดขึ้นมา ความเลือกเฟ้นความรู้ทั้งหลาย อารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้แหละที่ว่าเป็น "ปัญญาบางๆ" ปัญญาอันนี้ก็มีอยู่ในใจของเรานี้ทั้งหมด อาการนี้ท่านเรียกว่าศีล เรียกวาสมาธิ เรียกว่าปัญญา อันนี้เป็นเบื้องต้นเกิดขึ้นมาก่อน
ต่อไปมันจะเกิดเป็นความยึดมั่นหมายมั่นขึ้นมา ยึดความดีละทีนี้ กลัวจิตจะตกบกพร่องต่าง ๆ กลัวสมาธิจะถูกทำลาย จะเกิดอาการอย่างนี้ขึ้นมา รักมาก ถนอมมาก ขยันมาก หมั่นเพียรมาก ทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อถูกอารมณ์มากระทบ หวาดกลัว สะดุ้ง เห็นคนนั้นทำผิด ทำไม่ดีมารู้ไปหมดล่ะ ทั้งหลายเหล่านี้ มันหลง นี่ศีลขั้นหนึ่ง สมาธิขั้นหนึ่ง ปัญญาขั้นหนึ่ง ชั้นนอก เพราะเห็นตามอาญาของพระพุทธเจ้าของเรา อันนี้เป็นเบื้องแรก ต้องตั้งอยู่ในใจ ต้องมีอยู่ในใจ อาการเหล่านี้เกิดขึ้นในจิต เป็นอยู่อย่างนั้น เป็นเอามาก จนกระทั่งไปทางไหนเห็นใครทำอะไรผิดหูผิดตาไปเสียหมด เกิดสุขเกิดทุกข์ขึ้นมาก็ได้ สงสัยลังเลต่างๆ นานา การจับผิดจับถูก คือ มันทำมากเกินไป แต่ก็ช่างมันเสียก่อน ให้เอาให้มากเสียก่อนพวกนี้ ให้รักษากาย วาจารักษาจิตเสียก่อน ให้มากๆ ไว้ ไม่เป็นไรพวกนี้ นี่เรียกว่าศีลชั้นหนึ่ง ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี มีหมด ศีลชั้นนี้ถ้าเรียกว่าบารมีก็เป็น "ทานบารมี" หรือ "ศีลบารมี" มีอยู่อีกต่างหาก ก็ออกจากอันเดียวนี้เอง คือมันละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่านี้ กลั่นเอาความละเอียดออกจากของหยาบนี่แหละไม่ใช่อื่นไกลอะไร ทีนี้เมื่อได้หลักอย่างนี้ ปฏิบัติไว้ในใจของเราเป็นเบื้องแรก จะรู้สึกว่าอาย กลัว อยู่ที่ลับก็ดี ที่แจ้งก็ดี ใจมันกลัวจริงๆ สยดสยองอยู่เสมอเลยทีเดียวจิตใจนั้นเอาเป็นอารมณ์อยู่เสมอในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เอาความผิดความถูก สังวรสำรวมกายวาจาเป็นอารมณ์ มั่นอยู่อย่างนี้แหละ ยึดมั่นถือมั่นจริงๆ มันเลยเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา อันนี้ในข้อบัญญัตินะ
ทีนี้เมื่อเราทำไปรักษาไป ประพฤติปฏิบัติไปเรื่อยๆ อาการนั้นเต็มอยู่ในใจของเรา แต่ว่าศีลขั้นนี้ สมาธิขั้นนี้ ปัญญาขั้นนี้ยังไม่เป็นองค์ฌานหรอก พวกนี้ค่อนข้างหยาบ แต่ว่าเป็นของละเอียดละเอียดของหยาบ ละเอียดของปุถุชน เราซึ่งไม่เคยทำ ไม่เคยรักษา ไม่เคยภาวนา ไม่เคยปฏิบัติ เท่านี้ก็เป็นของละเอียดแล้ว เหมือนกับเงินสิบบาทหรือห้าบาท มีความหมายแก่คนจน ถ้าคนมีเงินล้านเงินแสนแล้ว เงินห้าบาทสิบบาทไม่มีความหมาย มันเป็นเรื่องอย่างนี้ ถ้าเป็นคนจนอยากได้ เงินบาทสองบาทก็มีความหมายแก่คนจน คนไม่มีถึงโทษขนาดที่เราละได้อย่างหยาบๆ เป็นต้น มีความหมายแก่ปุถุชนผู้ไม่เคยได้ละได้ทำมา ก็ยังมีความภาคภูมิใจอย่างเต็มขั้นบริบูรณ์ในขั้นนี้อันนี้จะเห็นเอง ผู้ที่ปฏิบัติจะต้องมีอยู่ในใจ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เรียกว่าเราเดินศีล เดินสมาธิ เดินปัญญา ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ขาดจากกันไม่ได้เมื่อศีลดี ความมั่นก็มั่นขึ้นมา ปัญญาก็ยิ่งกล้าขึ้นมา ทั้งหลายเหล่านี้แหละ กลับเป็นไวพจน์ซึ่งกันและกันอยู่ เรียกว่า การประพฤติปฏิบัติเรื่อยๆ ทำเรื่อยๆ ไป เป็นสัมมาปฏิปทา ไม่ได้ขาด
ฉะนั้น ถ้าหากเราทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่า เข้าหนทาง เข้าหนทางดำเนินเป็นเบื้องแรกเลยทีเดียว อันนี้เป็นขั้นหยาบๆ เป็นของรักษาได้ยากสักหน่อย ทีนี้ถ้าหากว่ามันละเอียดเข้าไปนะ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ ก็ออกจากอันเดียวกัน คล้ายกับมันกลั่นออกจากอันเดียวกัน เหมือนกับต้นมะพร้าวเรานี่แหละ พูดง่ายๆ ต้นมะพร้าวของเรานี่นะมันดูดเอาน้ำธรรมชาติขึ้นไป น้ำธรรมชาติขึ้นไปตามลำต้นของมัน แต่ไปถึงลูกมะพร้าวเกิดหวาน เป็นน้ำสะอาด แต่ก็น้ำพวกนี้แหละ อาศัยน้ำพวกนี้ อาศัยลำต้นพวกนี้ อาศัยน้ำอาศัยดินหยาบๆ นี่แหละ ดูดขึ้นไป กลั่นเข้าไป พอไปถึงลูกมะพร้าว กลายเป็นน้ำสะอาดยิ่งกว่านี้หวานอีกด้วย
ฉันใด ศีล สมาธิ ปัญญา คือ มรรคของเรานี้ หยาบเหมือนกัน แต่ถ้าหากว่าจิตของเรามาพิจารณาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้มันละเอียดขึ้นไปๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้มันก็หายจากหยาบไปละเอียด ละเอียดไปๆ ทีนี้การรักษาก็แคบเข้ามา แคบเข้ามา ง่าย ใกล้เข้ามาหาเจ้าของ ไม่ผิดไปมากละทีนี้ ไม่ผิดไปมากมาย เพียงแค่เรื่องใดมากระทบขึ้นในใจ เรานี้มีอาการสงสัยเกิดขึ้น เช่นว่า การทำอย่างนี้ผิดหรือถูก หรือพูดอย่างนี้ถูกไหมหนอ พูดอย่างนี้ผิดไหมหนอ อย่างนี้เป็นต้น ก็เลิก มันใกล้เข้า ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ เรื่อยๆ เข้ามา เรื่อสมาธิมันก็ยิ่งมั่นเข้ามาเรื่อปัญญาก็ยิ่งมองเห็นได้ง่าย ผลที่สุดก็เห็น "จิตกับอารมณ์" ไม่ได้แยกไปถึงกายวาจา ไม่ได้แยกถึงอะไรทั้งนั้น พูดถึงกายกับจิต ทีนี้พูดถึงกายกับจิต พูดถึงอารมณ์กับจิต เรื่องกายกับจิตมันอาศัยซึ่งกันและกัน เห็นผู้บังคับกายคือจิต กายจะเป็นไปได้ก็เพราะจิต ทีนี้จิตนั้นก่อนที่จะบังคับกาย มันก็อาศัยอารมณ์มากระทบจิต แล้วอารมณ์ก็บังคับทีนี้เมื่อเราพิจารณาเรื่อยๆ เข้าไปนะ ความแยบคายมันจะค่อยๆ เกิดขึ้น ผลที่สุดแล้วมันจะมีจิตกับอารมณ์คือกายนี้ที่เป็นรูป มันก็เป็นอรูปไป มันไม่มาลูกคลำรูปอันนี้ มันเอาอาการของรูปนี้เข้าไปเป็นอรูปเป็นอารมณ์มากระทบกันเข้ากับจิตอารมณ์ ผลที่สุดก็เป็นจิตกับอารมณ์ อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นมากับจิตของเรา นั่น! จิตของเรา
ทีนี้เราจะหยั่งถึงธรรมชาติของจิต จิตของเราไม่มีเรื่องราวอะไรเหมือนกับเศษผ้าหรือธงที่เขาเหน็บไว้ปลายไม้อย่างนั้นแหละ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือเหมือนใบไม้ ตามธรรมชาติอยู่นิ่งๆ ไม่มีอะไร ที่ใบไม้มันไหวกวัดแกว่งเพราะลมมาพัดต่างหาก ธรรมชาติของใบไม้มันอยู่นิ่งๆ ไม่เป็นอะไร ไม่ได้ทำอะไรกับใคร ที่มันไหวไปมาเพราะมีอะไรมากระทบต่างหาก เช่น ลมมากระทบเป็นต้น มันก็กวัดแกว่งไปมาธรรมชาติของจิตก็เหมือนกัน ไม่มีรัก ไม่มีชัง ไม่ให้โทษผู้ใด มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น เป็นสภาวะอันบริสุทธิ์ ใสสะอาดจริงๆ อยู่ด้วยความสงบ ไม่มีความสุข ไม่มีความทุกข์ ไม่มีเวทนาใดๆ นี่สภาพจิตจริงๆ เป็นอย่างนั้น ทีนี้เรามาปฏิบัติก็เพื่อค้นเข้าไป พิจารณาเข้าไปค้นเข้าไปจนถึงจิตอันเดิม จิตเดิมที่เรียกว่าจิตบริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์นั้นคือจิตที่ไม่มีอะไร ไม่มีอารมณ์อะไรที่ผ่านมา คือไม่ได้วิ่งไปตามอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น ไม่ได้ติดอันนั้นไม่ติดอันนี้ ไม่ได้สุขทางนั้นสุขทางนี้ ไม่ได้ดีใจกับสิ่งนั้น เสียใจกับสิ่งนี้ แต่จิตเป็นผู้รู้อยู่เสมอเป็นผู้รู้เรื่องราวทั้งหลาย เมื่อจิตเป็นอย่างนี้แล้ว อารมณ์ทั้งหลายที่มาพัด อารมณ์ดีก็ดี อารมณ์ชั่วก็ดี อารมณ์ทั้งหลายมาพัดมาไตร่ตรองเข้าไปก็ดี จิตมีความรู้สึกอย่างนั้น จิตอันนี้ไม่เป็นอะไร คือ ไม่ได้หวั่นไหว เพราะอะไร เพราะจิตนั้นรู้ตัว จิตนั้นสร้างความอิสระไว้ในตัวของมัน มันถึงสภาพของมัน ถึงสภาพอันเดิมของมัน ทำไมมันถึงสร้างสภาพอันเดิมไว้ได้ คือผู้รู้พิจารณาอย่างแยบคายแล้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันเป็นอาการทางธาตุอันหนึ่ง ไม่ได้มีใครทำอะไรใคร เหมือนกับสุขทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้แหละ เกิดขึ้นมามันก็สักแต่ว่าสุด มันก็สักแต่ว่าทุกข์ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ "สุข" จิตก็ไม่ได้เป็นเจ้าของ "ทุกข์" จิตก็ไม่ได้เป็นเจ้าของ ดูเอานั่น มันไม่ใช่เรื่องของจิตจะเอา มันคนละเรื่องคนละอย่าง สุขก็สักแต่ว่าสุขเฉยๆ ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์เฉยๆ ท่านเป็นผู้รู้เท่านั้น
แต่ก่อนนี้ เมื่อโลภะ โทสะ โมหะ มีมูลแล้วนะ พอเห็นก็รับเลยสุขก็เอาทุกข์ก็เอาเข้าไปเสวย เราเป็นสุขเราเป็นทุกข์ ไม่หยุดไม่หย่อนนั้นจิตยังไม่ทันรู้ตัว ยังไม่สว่างไสว ไม่มีอิสระ จิตไปตามอารมณ์ จิตไปตามอารมณ์คือจิตเป็นอนาถา ได้อารมณ์ดีก็ดีไปด้วย มันลืมเจ้าของเจ้าของเดิมนั้นเป็นของที่ไม่ดีไม่ชั่ว นี่อันเดิมของมัน ถ้าจิตดีก็ดีไปด้วย นั่นคือมันหลง ถ้าจิตไม่ดีก็ไม่ดีไปด้วย จิตทุกข์ก็ทุกข์ก็ทุกข์ไปด้วย จิตสุขก็สุขไปด้วย ทีนี้เลยเป็นโลภ อารมณ์มันเป็นโลก ติดไปกับโลก ให้เกิดสุขให้เกิดทุกข์ ให้เกิดดีให้เกิดชั่ว ให้เกิดทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเป็นไปในของไม่แน่นอน ถ้าออกจากจิตอันเดิมแล้วก็ไม่แน่นอนเลย มีแต่เกิดมีแต่ตาย มีแต่หวั่นไหว มีแต่ทุกข์ยากลำบากตลอดสิ้นกาลนาน ไม่มีทางสิ้นสุดจบลงสักที มันเป็นตัววัฏฏะทั้งนั้น
เมื่อเราพิจารณาอย่างแยบคายมันก็ต้องเป็นไปตามที่มันเคยเป็นจิตนั้นไม่มีอะไร
มันเป็นเพราะเรายึด อย่างเช่น คำนินทา หรือ สรรเสริญของมนุษย์ทั้งหลาย อย่างเขาว่าคุณชั่วอย่างนี้แหละ ทำไมเราจึงเป็นทุกข์ มันทุกข์เพราะเข้าใจว่าเขาว่า มันเลยไปหยิบเอามาใส่ใจ การที่ไปหยิบไปรับรู้มาอย่างนั้น รู้ไม่เท่าทันแล้วไปจับมาความรู้สึกอันนั้นแหละเรียกว่า เรามาแทงเจ้าของ "อุปาทาน" เมื่อมาแทงแล้ว ทีนี้มันก็เป็น "ภพ" เป็นภพที่จะให้เกิดชาติ คำพูดบางสิ่งบางอย่างถ้าเราไม่รับรู้มันเสีย สักแต่ว่าเป็นเสียง อย่างนั้นมันก็ไม่มีอะไร อย่างเขมรเขามาด่าเราอย่างนี้ เราก็ได้ยินอยู่ สักแต่ว่าเสียง เสียงเขมรเฉยๆ สักแต่ว่าเป็นเสียง ไม่รู้จักความหมายว่าเขาด่าเรา จิตมันไม่รับอย่างนี้ก็สบาย หรือพวกญวนพวกภาษาต่างๆเขามาด่าเราอย่างนี้เราก็ได้ยินแต่เสียงเฉยๆ ก็สบาย มันไม่รับเอาเข้ามาแทงจิต จิตอันนี้พูดถึงการเกิดและดับของจิตนี้ รู้เรื่องกันง่าย เมื่อเรามาพิจารณาอย่างนี้เรื่อยๆ ไป จิตก็ค่อยๆ ละเอียดขึ้น เพราะมันผ่านความหยาบมาแล้ว
เรื่องสมาธิคือความตั้งใจมั่น จิตยิ่งมั่นเข้ามา ยิ่งมั่นหมายเข้ามา ยิ่งพิจารณาเข้ามายิ่งแน่เข้ามา มั่นจริงๆ ว่าจิตนี้ไม่เป็นไปกับใคร จิตอย่างนี้เชื่อแน่จริงๆ ก็ไม่เป็นไปกับใคร ไม่เป็นไปกับอารมณ์ อารมณ์เป็นอารมณ์ จิตเป็นจิต ที่จิตเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นดีเป็นชั่ว เพราะจิตหลงอารมณ์ ถ้าไม่หลงอารมณ์แล้วไม่เป็นอะไร จิตนี้ไม่ได้หวั่นไหวสภาวะอันนี้เรียกว่าเป็นสภาพรู้อันหนึ่ง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น เป็นอาการของธาตุทั้งหมด เกิดแล้วก็ดับไปเฉยๆ อย่างนี้ ถึงแม้เรามีความรู้สึกอย่างนี้ แต่ยังละไม่ได้ ก็มีนะ การละได้หรือละไม่ได้ก็ช่างมันเถิด ให้มีความรู้หรือมีความหายไว้อย่างนี้เสียก่อนในเบื้องแรกของจิต เราค่อยพยายามเข่นฆ่าเข้าไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว จิตถอยออกมา พระบรมศาสดาหรือคัมภีร์ท่านกล่าวว่าเป็น "โคตรภูจิต" โคตรภูจิตนี้ คือ จิตมันจะข้ามโคตรภู จิตของปุถุชนย่างเข้าไปหาอริยะชน ซึ่งเป็นมนุษย์ปุถุชนเรานี้เอง มี "โคตรภูบุคคล" พอก้าวเข้าไปถึงจิตพระนิพพาน แต่ไปไม่ได้ถอยออกมาปฏิบัติขั้นหนึ่ง ถ้าเป็นคนก็เหมือนคนเดินข้ามห้วย ขาข้างหนึ่งอยู่ฟากห้วยทางนี้ อีกขาหนึ่งอยู่ฟากห้วยทางโน้น เข้าใจแล้วล่ะว่า ห้วยฝั่งทางโน้นก็มี ฝั่งทางนี้ก็มีแต่ไปไม่ได้ ถอนมา ที่บุรุษผู้นั้นเข้าใจว่า ฝั่งทางโน้นก็มีฝั่งทางนี้ก็มี นี่คือโคตรภูบุคคล หรือโคตรภูจิต แปลว่า รู้เข้าไปแต่ไปยังไม่ได้ ถอนกลับมา เมื่อรู้แล้วว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่ มาดำเนินไปสร้างบารมีไป มาบำเพ็ญเข้าไป เห็นว่ามันแน่นอน มันเป็นอย่างนั้น จะต้องตรงไปทางนั้น พูดง่ายๆ สภาพที่เราพากันมาประพฤติปฏิบัติอยู่เดี๋ยวนี้ ถ้าพิจารณาตามเรื่องราวจริงๆ แล้ว มันมีหนทางที่จะต้องไป คือ เรารู้หนทางในเบื้องแรกว่า ความดีใจหรือเสียใจไม่ใช่หนทางที่เราจะเดินเราต้องรู้จักอย่างนี้ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะถ้าไปดีใจ มันก็ไม่ใช่ทาง เกิดทุกข์ได้ ไปเสียใจก็เกิดทุกข์ได้ นั่นคือเราคิดได้อย่างนี้แต่ว่ายังละไม่ได้
ทีนี้ตรงไหนที่มันถูก ให้นำเอาความดีใจและเสียใจไว้สองข้าง พยายามเดินตรงกลาง เอาติดไว้เท่านั้น อันนี้ถูกหนทาง เรากำหนดรู้อยู่แต่ยังทำไม่ได้ เมื่อเรายังทำไม่ได้ ถ้าติดสุขหรือทุกข์เราก็รู้จักอยู่เสมอว่ามันติด เมื่อนั้นแหละเราจะถูกได้ เมื่อจิตสุขอยู่อย่างนี้ก็ไม่ได้สรรเสริญมัน เมื่อจิตติดทุกข์ก็ไม่ได้ดูถูกมัน เราจะได้ดูมันล่ะทีนี้ สุขก็ผิด ทุกข์ก็ผิด เข้าใจอยู่ว่ามันไม่ใช่หนทาง รู้น่ะรู้อยู่ แต่ยังละไม่ได้ยังละไม่ได้แต่รู้อยู่ รู้แล้วไม่ได้สรรเสริญสุข ไม่ได้สรรเสริญทุกข์ ไม่ได้สรรเสริญทางทั้งสองนั้น ไม่ได้สงสัย รู้ว่าไม่ใช่หนทางเหมือนกัน ทางนี้ก็ไม่ใช่ ทางนั้นก็ไม่ใช่ เอาทางกลางนี้เป็นอารมณ์อยู่เสมอเลยทีเดียว ถ้าหากจิตพ้นจากทุกข์สุขเมื่อใดแล้ว จะเกิดอันนี้ขึ้นเป็นหนทาง ใจเราย่องเข้าไปรู้เสียแล้ว แต่ว่าไปเลยไม่ได้ ถอนออกมาปฏิบัติ เมื่อสุขเกิดขึ้นมา มันติด ให้เอาสุขนั้นขึ้นมาพิจารณา เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมา มันติด ก็ให้เอาทุกข์นั้นขึ้นมาพิจารณา จนมันรู้เท่าความสุขเมื่อใด จนมันรู้เท่าความทุกข์เมื่อใด นั่นเอง มันจึงจะวางสุข มันจึงจะวางสุข วางดีใจนี้วางเสียใจนี้ วางโลกทั้งหลายเหล่านี้ เป็น "โลกวิทู" ได้ เมื่อตัวผู้รู้มันวางได้เมื่อใด มันก็ลงที่นั่นเลย ทำไมมันถึงลงที่นั่น เพราะมันเดินเข้าไปแล้ว ที่นั่นมันรู้แล้ว แต่มันไปไม่ได้ เมื่อจิตติดสุขติดทุกข์ก็ไม่หลงมัน พยายามคุ้ยออก พยายามเขี่ยออกเสมอ อันนี้อยู่ตรงระดับเป็น "พระโยคาวจร"ผู้เดินทางยังไม่ถึงที่
อาการเหล่านี้เพ่งดูในขณะจิตของเจ้าของ ไม่ต้องสอบสวนอารมณ์อะไรเลยทีเดียว เมื่อมันติดอยู่ในทั้งสองอย่างนี้ ให้รู้เสียว่าอันนี้มันผิดอยู่แน่ๆ ทั้งสองอย่าง มันติดอยู่ในโลกนั่นเอง สุขก็ติดอยู่ในโลก ทุกข์ก็ติดอยู่ในโลก นั่นมันติดอยู่ในโลก โลกมันตั้งขึ้นได้ก็เพราะไม่รู้เท่าทันนั่นแหละ ไม่ใช่เกิดจากอะไรอื่น เพราะไม่รู้เท่าทันมันก็เข้าไปหมายไปปรุง ไปแต่งเป็นสังขารเลยนั่น มันสนุกอยู่ตรงนี้แหละ การปฏิบัติติดตัวไหนมันก็กระหน่ำอยู่ไม่ว่าง ติดสุขมันก็กระหน่ำสุขเลย จิตของเรามันไม่ได้ปล่อยตัว ติดทุกข์อย่างนี้มันจับบึ่งเลย พิจารณาเลย มันจะเข้าด้านเข้าเข็ม มันไม่วางหรอกอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ มันไม่มาต้านทานได้หรอก ถึงแม้มันผิด รู้จักว่าผิด จิตไม่ได้ประมาทจิตใหญ่ๆ นั้นไม่ได้ประมาท คล้ายกับว่าเราเดินเข้าไปเหยียบหนาม เราไม่อยากเหยียบหรอกหนาม ระวังเต็มที่แต่มันเหยียบไป เหยียบแล้วพอใจไหม ก็ไม่พอใจ เมื่อเรารู้จักหนทางแล้ว ว่าอันนี้มันเป็นโลกอันนี้มันเป็นทุกข์ อันนี้มันเป็นตัววัฏฏะ เรารู้จัก แต่ว่ามันเหยียบเข้าไปเสีย มันก็ไปกับความสุขความทุกข์ คือความดีใจเสียใจอย่างนี้เป็นต้น แต่มันยังไม่พอใจนะ มันพยายามทำลายสิ่งเหล่านี้ออกทำลายโลก ออกจากใจอยู่เสมอเลยทีเดียว จิตขณะนี้แหละ สร้างอยู่นี้นะ ปฏิบัติตรงนี้ สร้างอยู่นี่ บำเพ็ญอยู่นี่ นี่เรื่องทำความเพียร เรื่องปฏิบัติ มันสนทนาอยู่อย่างนี้ พิจารณาอยู่อย่างนี้ เรื่องข้างในของมัน สิ่งเหล่านี้เมื่อมันถอนโลกแล้ว พิจารณาอยู่อย่างนี้ เรื่องข้างในของมัน สิ่งเหล่านี้เมื่อมันถอนโลกแล้ว มันก็ค่อยขยับตัวเข้าไปเรื่อยๆ ทีนี้ผู้รู้ทั้งหลายเหล่านี้แหละ เมื่อรู้แล้ว รู้อยู่เฉยๆ รู้เท่าทัน รู้แจ้ง ไม่รับส่วนกับผู้ใดไม่รับเป็นทาสใคร ไม่รับส่วนกับใคร รู้แล้วไม่เอา รู้แล้ววาง รู้แล้วละ สุขก็มีอยู่เหมือนกัน ทุกข์ก็มีอยู่เหมือนกัน อะไรก็มีอยู่เหมือนกัน แต่ไม่เอา
เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ก็รู้จักว่า เออ! จิตเป็นอย่างนี้ อารมณ์เป็นอย่างนี้ จิตพรากจากอารมณ์ อารมณ์พรากจากจิต จิตเป็นจิต อารมณ์เป็นอารมณ์ ถ้ารู้จักสิ่งสองเหล่านี้แล้ว เข้ากันเมื่อใดเราก็รู้มันเมื่อนั้น เมื่อจิตประสบกับอารมณ์เมื่อใดก็รู้เมื่อนั้น เมื่อการปฏิบัติของพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย ขณะยืน หรือเดิน หรือนั่ง หรือนอนนั้น มีความรู้สึกอย่างนี้เสมอแล้ว อันนี้ท่านเรียกว่า "ผู้ปฏิบัติปฏิปทาเป็นวงกลม" เป็นสัมมาปฏิปทา ลืมตัวไม่ได้ ลืมไม่ได้ ไม่ใช่ดูแต่ของหยาบ ดูของละเอียดข้างใน ข้างนอกมันวางเอาไว้ ทีนี้ก็ดูแต่กายกับจิต ดูแต่อารมณ์กับจิตนี้ ดูมันเกิดดูมันดับ ดูเกิดแล้วก็ดับไป ดับแล้วก็เกิดขึ้นมา ดับเกิด เกิดดับ ดับแล้วเกิด เกิดแล้วดับ ผลทีสุดก็ดูแต่ความดับเท่านั้นล่ะทีนี้ "ขัยยะวัยยัง" ความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดาของมันเป็นขัยยะวัยยัง จิตใจเมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ จิตไม่ไปสืบสาวเอาอะไรหรอก มันจะทันของมันล่ะทีนี้ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น รู้ก็สักแต่ว่ารู้ มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น อันนี้ปรุงไม่ได้ อันนี้แต่ไม่ได้
ฉะนั้น การปฏิบัติของเราอย่าไปมัวงมมัน เหมือนกับที่ว่ามานี้ล่ะ พิจารณาดูซิว่ามันผิดหรือไม่ผิด ดูแล้วเลิก อย่าไปสงสัย การทำสมาธิก็เหมือนกันทำสงบไป...สงบไป ทำไปๆ สงบไป มันจะคิดก็ช่างมัน ให้เรารู้จักเรื่องของมัน บางคนนะอยากให้สงบแต่ไม่รู้จักความสงบ ไม่รู้จักความสงบจิต ความสงบนั้นมีสองอย่าง สงบเรื่องสมาธิอันหนึ่ง สงบเรื่อปัญญาอันหนึ่ง
สงบเรื่องสมาธินี่หลง หลงมากๆ เลย สงบเรื่องสมาธินี่คือปราศจากอารมณ์มันจึงสงบ ไม่มีอารมณ์มันก็สงบ ก็ติดสุขล่ะทีนี้ แต่เมื่อถูกอารมณ์ก็งอเลย กลัว กลัวอารมณ์ กลัวสุข กลัวทุกข์ กลัวนินทา กลัวสรรเสริญ กลัวรูป กลัวเสียง กลัวกลิ่น กลัวรส สมาธินี่กลัวหมด ถึงได้ไม่อยากออกมากับเขา ถ้าคนที่มีสมาธิแบบนี้ อยู่แต่ในถ้ำนั่น เสวยสุขอยู่ไม่อยากออกมา ที่ไหนมันสงบก็ไปซุกไปซ่อนอยู่อย่างนั้น ทุกข์มากนะสมาธิแบบนี้ ออกมาอยู่กับผู้อื่นเขาไม่ได้ มาดูรูปไม่ได้ ได้ยินเสียงไม่ได้ มารับอะไรไม่ได้ ต้องไปอยู่เงียบๆ อย่างนั้น ไม่ต้องให้ใครเขาไปพูดไปจาก สถานที่ต้องสงบ
สงบอย่างนี้ใช้ไม่ได้ สงบขั้นนั้นแล้วให้เลิก ถอนออกมาพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้บอกให้ทำอย่างนั้น ถ้าทำอย่างนั้นแล้วให้เลิกถ้ามันสงบแล้ว เอามาพิจารณา เอาตัวสงบมาพิจารณา เอามาต่อกับอารมณ์ เอามาพิจารณา รูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะ พวกนี้ ธรรมารมณ์พวกนี้ เอาออกมาเสียก่อน เอาตัวความสงบนั้นมาพิจารณา เป็นต้นว่ามาพิจารณา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อะไรต่างๆ เหล่านี้ พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาโลกทั้งสิ้นทั้งปวงนี่เอง เอามาพิจารณาแล้ว ถึงคราวให้สงบก็นั่งสมาธิให้สงบเข้าไป แล้วก็มาพิจารณา ให้มาหัดให้มาฟอก เอามาต่อสู้ มีความรู้แล้ว เอามาต่อสู้ เอามาฝึกหัด เอามาพิจารณาข้างนอกก็สงบเข้าไปเรื่อยๆ ถึงข้างใน จนมันเกิดความสงบอย่างยกใหญ่ของมัน
ความสงบของปัญญานั้น เมื่อจิตสงบแล้ว ไม่กลัวรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และไม่กลัวธรรมารมณ์ ไม่กลัว กระทบมันเดี๋ยวนี้รู้มัน เดี๋ยวนี้ กระทบมันเดี๋ยวนี้ ทิ้งมันเดี๋ยวนี้ กระทบมันเดี๋ยวนี้ วางมันเดี๋ยวนี้ เรื่องสงบของปัญญาเป็นอย่างนี้
ทีนี้เมื่อจิตเป็นอย่างนี้ มันละเอียดยิ่งกว่านั้นนะ จิตจะมีกำลังมาก เมื่อมีกำลังมาก ทีนี้ไม่หนี มีกำลังแล้วไม่กลัวนะ เมื่อก่อนเรากลัวเขาแต่เดี๋ยวนี้เรารู้แล้ว เราไม่กลัว รู้กำลังของเราแล้ว เราไม่กลัว เห็นรูป เราก็พิจารณารูป ได้ยินเสียงก็พิจารณาเสียง เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี เป็นต้น เห็นวันนี้วางวันนี้ อะไรๆ ก็วางได้หมด เห็นสุขวางสุข เห็นทุกข์วางทุกข์ เห็นมันที่ไหนวางมันที่นั่น เออ! วางที่นั่น ทิ้งที่นั่นเรื่อยๆไป มันไม่เป็นอารมณ์อะไรล่ะทีนี้ เอาไว้ที่นั่น เราก็มาอยู่บ้านของเรา ไปเห็นเราก็ทิ้ง เห็นเราก็ดู ดูแล้วเราก็วาง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้หมดราคา ไม่สามารถทำอะไรเราได้ อันนี้เป็นกำลังวิปัสสนา เมื่ออาการเกิดขึ้นมาอย่างนี้ เปลี่ยนชื่อว่าเป็น "วิปัสสนา" รู้แจ้งตามความเป็นจริง นั่น! รู้แจ้งตามความเป็นจริง อันนี้ความสงบชั้นหนึ่ง สงบของวิปัสสนา สงบด้วยสมาธินี้ยาก ยากจริงๆ นะ กลัวมาก
ฉะนั้น เมื่อสงบเต็มที่แล้ว ทำอย่างไร เอามาหัด เอามาฝึก เอามาพิจารณา อย่าไปกลัว อย่าไปติด ทำสมาธินี้ไปติดแต่สุขนั่งเฉยๆ ก็ไม่ใช่นะ ถอนออกมา สงครามนั้นท่านว่าไปรบ ไม่ใช่เราไปอยู่ในหลุมเพลาะ หลบแต่ลูกกระสุนเขาเท่านั้นหรอก ถึงคราวรบกันจริงๆ เอาปืนยิงกันตูมๆ อยู่ในหลุมเพลาะก็ต้องออกมานะ ถึงเวลาจริงๆ แล้ว ไม่ให้เข้าไปนอนในหลุมเพลาะรบกันนะ นี่ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ให้เอาจิตไปหมอบอยู่อย่างนั้นนะ อันนี้เบื้องแรกมันจะต้องผ่าน มีศีล มีสมาธิ จะต้องหัดค้นตามแบบตามวิธี มันก็ต้องไปอย่างนั้น
อย่างไรก็ตาม อันนี้กล่าวไว้เป็นเลาๆ เมื่อเราผู้ประพฤติปฏิบัติแล้วนั่นแหละ อย่าสงสัยเลย? เรื่องอย่าไปสงสัยมัน มันมีสุขก็ดูสุข มันมีทุกข์ก็ดูทุกข์ ดูแล้วก็พยายามเข่นมัน ฆ่ามัน ปล่อยมัน วางมัน รู้อารมณ์นั้น ปล่อยมันไปเรื่อยๆ มันอยากนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมก็ช่างมัน จะคิดไปก็ช่าง ให้รู้เท่าทันจิตของเรา ถ้าคิดไปมากๆ แล้วเอามา รวมกันเสีย ตัดบทมันอย่างนี้ว่า
"สิ่งที่เจ้านึกมานี้เจ้าคิดมานี้ เจ้าพรรณนามานี้ เป็นสักแต่ว่าความนึกความคิดเฉยๆ หรอก สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่แน่นอนหมดทุกอย่าง ทิ้งมันไว้นั่น!"
วินัยบัญญัติ
อนุศาสน์ ๘ อย่าง
นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔
ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต เรียกนิสสัย มี ๔ อย่าง คือ
เที่ยวบิณฑบาต ๑
นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ๑
อยู่โคนไม้ ๑
ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ๑
กิจที่ไม่ควรทำ เรียกอกรณียกิจ มี ๔ อย่างคือ
เสพเมถุน ๑
ลักของเขา ๑
ฆ่าสัตว์ ๑
พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน ๑
กิจ ๔ อย่างนี้บรรพชิตทำไม่ได้
สิกขาของภิกษุมี ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ความสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อยชื่อว่า ศีล
ความรักษาใจมั่นชื่อว่า สมาธิ
ความรอบรู้ในกองสังขารชื่อว่า ปัญญา อาบัติ
โทษที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม
เรียกว่าอาบัติ
อาบัตินั้นว่าโดยชื่อมี ๗ อย่างคือ
ปาราชิก๑
สังฆาทิเสส๑
ถุลลัจจัย๑
ปาจิตตีย์๑
ปาฏิเทสนียะ๑
ทุกกฎ๑
ทุพภาสิต๑
ปาราชิกนั้น ภิกษุต้องเข้าแล้ว ขาดจากภิกษุ
สังฆาทิเสสนั้น ต้องเข้าแล้ว ต้องอยู่กรรมจึงพ้นได้
อาบัติอีก๕อย่าง นั้นภิกษุต้องเข้าแล้ว ต้องแสดงต่อ
หน้าสงฆ์หรือคณะหรือภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจึงพ้นได้
อาการที่ภิกษุจะต้องอาบัติ เหล่านี้ ๖ อย่างคือ
ต้องด้วยไม่ละอาย๑
ต้องด้วยไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเป็นอาบัติ๑
ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำลงไป๑
ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร๑
ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร๑
ต้องด้วยลืมสติ๑
ข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ซึ่งยกขึ้นเป็นสิกขาบท
ที่มาในพระปาติโมกข์ ๑
ไม่ได้มาในพระปาติโมกข์ ๑ สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์นั้น คือ
ปาราชิก ๔
สังฆาทิเสส ๑๓
อนิยต ๒
นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐
ปาจิตตีย์ ๙๒
ปาฏิเทสนียะ ๔
เสขิยะ ๗๕
รวมเป็น ๒๒๐ นับทั้งอธิกรณสมถะด้วยเป็น ๒๒๗
ปาราชิก ๔
๑.ภิกษุเสพเมถุน ต้องปาราชิก
๒.ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ได้ราคา ๕
มาสก ต้องปาราชิก
๓.ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องปาราชิก
๔.ภิกษุอวดอุตตริมนุสสธรรม (คือธรรมอันยิ่ง
ของมนุษย์) ที่ไม่มีในตน ต้องปาราชิก
สังฆาทิเสส ๑๓
๑.ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส
๒.ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ จับต้องกายหญิง ต้องสังฆาทิเสส
๓. ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดเกี้ยวหญิง ต้องสังฆาทิเสส
๔. ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดล่อให้หญิงบำเรอตนด้วยกาม
ต้องสังฆาทิเสส
๕.ภิกษุชักสื่อให้หญิงชายเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส
๖.ภิกษุสร้างกุฎีที่ต้องก่อและโบกด้วยปูนหรือดิน
ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ จำเพาะเป็นที่อยู่ของตน
ต้องทำให้ได้ประมาณ โดยยาวเพียง ๑๒ คืบพระสุคต
โดยกว้างเพียง ๗ คืบพระสุคต วัดในร่วมใน และต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก็ดี ทำให้เกินประมาณก็ดี ต้องสังฆาทิเสส
๗.ถ้าที่อยู่ซึ่งจะสร้างขึ้นนั้น มีทายกเป็นเจ้าของ ทำให้เกินประมาณนั้นได้ แต่ต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ต้องสังฆาทิเสส
๘.ภิกษุโกรธเคือง แกล้งโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ต้องสังฆาทิเสส
๙. ภิกษุโกรธเคือง แกล้งหาเลสโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิก ต้องสังฆาทิเสส
๑๐.ภิกษุพากเพียรเพื่อจะทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส
๑๑.ภิกษุประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นั้น ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส
๑๒.ภิกษุว่ายากสอนยาก ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อ
จะให้ละข้อประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส
๑๓.ภิกษุประทุษร้ายตระกูล คือประจบคฤหัสถ์
สงฆ์ไล่เสียจากวัด กลับว่าติเตียนสงฆ์ ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง
สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส
อนิยต ๒
๑. ภิกษุนั่งในลับตากับหญิงสองต่อสอง ถ้ามีคนที่ควรเชื่อได้
มาพูดขึ้นด้วยธรรม ๓ อย่างคือ ปาราชิก หรือสังฆาทิเสส
หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใด ให้ปรับอย่างนั้น
หรือเขาว่าจำเพาะธรรมอย่างใด ให้ปรับอย่างนั้น
๒. ภิกษุนั่งในลับหูกับหญิงสองต่อสอง ถ้ามีคนที่ควรเชื่อได้มา
พูดขึ้นด้วยธรรม ๒ อย่างคือ สังฆาทิเสส หรือปาจิตตีย์
อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุรับอย่างใด ให้ปรับอย่างนั้น
หรือเขาว่าจำเพาะธรรมอย่างใด ให้ปรับอย่างนั้น
กาลิก ๔
ของที่จะพึงกลืนให้ล่วงลำคอลงไป ท่านเรียกว่า กาลิก
เพราะเป็นของมีกำหนดให้ใช้ชั่วคราว จำแนกเป็น๔อย่าง.
ของที่ให้บริโภคได้ชั่วคราว ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน เรียก ยาวกาลิก ๑.
ของที่ให้บริโภคได้ชั่วคราว คือวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง เรียก ยามกาลิก ๑.
ของที่ให้บริโภคได้ชั่วคราว คือ ๗ วัน เรียก สัตตาหกาลิก ๑.
ของที่ให้บริโภคได้เสมอไป ไม่มีจำกัดกาล เรียก ยาวชีวิก ๑.
ยาวกาลิก
ของที่ใช้บริโภคเป็นอาหาร จัดเป็นยาวกาลิก ตัวอย่างคือโภชนะทั้ง ๕ คือ
ข้าวสุก ที่หุงจากธัญญชาติทั้งหลาย ๑
ขนมกุมมาส เป็นของทำด้วยแป้งหรือด้วยถั่วงา
มีอันจะบูดเมื่อล่วงคืนแล้ว ๑
สัตตุ คือขนมแห้ง เป็นของไม่บูด ๑
ปลา ๑
เนื้อ ๑
นมสด นมส้ม ก็จัดเข้าในโภชนะในที่อื่นจากโภชนะ ๕
ขาทนียะ ของขบเคี้ยว คือ ผลไม้และเง่า มีมัน เป็นต้น
จัดเข้าในยาวกาลิกนี้
ยามกาลิก
ปานะ คือน้ำสำหรับดื่ม ที่คั้นออกจากน้ำลูกไม้
เรียกว่า ยามกาลิก แสดงไว้ในบาลี ๘ ชนิด คือ
อัมพะปานัง น้ำมะม่วง ๑
ชมพุปานัง น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า ๑
โจจะปานัง น้ำกล้วยมีเมล็ด ๑
โมจะปานัง น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด ๑
มธุกะปานัง น้ำมะซาง ๑
มุททิกะปานัง น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น ๑
สาลุกะปานัง น้ำเง่าอุบล ๑
ผารุสะกะปานัง น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑
สัตตาหะกาลิก
เภสัช ๕ อย่าง คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย จัดเป็นสัตตาหะกาลิก
ยาวชีวิก
ของที่ให้ประกอบเป็นยา นอกจากกาลิก ๓ อย่างนั้น จัดเป็นยาวชีวิก มีประเภทดังนี้
๑. รากไม้ เรียกว่า มูลเภสัช เช่น ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิด ข่า แฝก แห้วหมู
๒. น้ำฝาด เรียกว่า กสาวเภสัช เช่น น้ำฝาดสะเดา น้ำฝาดมูกมัน น้ำฝาดกระดอมหรือมูลกา น้ำฝาดบอระเพ็ดหรือพญามือเหล็ก น้ำฝาดกระถินพิมาน
๓. ใบไม้ เรียกว่า ปัณณะเภสัช เช่น ใบสะเดา ใบมูกมัน ใบกระดอม หรือมูลกา ใบกระเพรา หรือแมงลัก ใบฝ้าย
๔. ผลไม้ เรียกว่า ผลเภสัช เช่น ลูกพิลังกาสา ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ผลแห่งโกฐ
๕. ยางไม้ เรียกว่า ชตุเภสัช เช่น ยางจากต้นหิงคุ์
๖. เกลือ เรียกว่า โลณเภสัช เช่น เกลือแห่งน้ำทะเล เกลือสินเธาร์
กาลิกระคนกัน
กาลิกบางอย่าง ระคนกับกาลิกบางอย่าง มีกำหนดให้ใช้ได้ชั่วคราวของกาลิกที่มีคราวสั้น เช่น ยาผง เป็นยาวชีวิกไม่จำกัดคราว เอาคลุกกับน้ำผึ้งเป็นกระสาย น้ำผึ้งมีคราวชั่ว ๗ วัน ยานั้นก็มีคราวชั่ว ๗ วันไปด้วยฯ เครื่องเทศ เช่น กระวาน กานพลู ลูกผักชี อบเชย เป็นยาวชีวิก เขาปรุงกับข้าวสุกที่หุงด้วยกะทิ มีคติกลายเป็นยาวกาลิกตาม
อโคจร
บุคคลก็ดี สถานก็ดี อันภิกษุไม่ควรไปสู่ เรียกอโคจร ท่านแสดงไว้ ๖ ประเภท คือ หญิงแพศยา ๑ หญิงหม้าย ๑ สาวเทื้อ ๑ ภิกษุณี ๑ บัณเฑาะก์ ๑ ร้านสุรา ๑
วิบัติ
ในบาลีจำแนกวิบัติของภิกษุไว้ ๔ ประการ คือ
๑. ความเสียแห่งศีล เรียกว่า สีลวิบัติ ท่านจัดเอาการต้องปาราชิก หรือสังฆาทิเสส อันเป็นอาบัติหนัก
๒. ความเสียมรรยาท ชื่อว่า อาจารวิบัติ ท่านจัดเอาการต้องลหุกาบัติ ตั้งแต่ถุลลัจจัยมาจนถึงทุพภาสิต
๓. ความเห็นผิดธรรมผิดวินัย ชื่อว่า ทิฏฐิวิบัติ
๔. ความเสียแห่งการเลี้ยงชีพ ชื่อว่า อาชีววิบัติ
การทำพินทุ
บริขารที่ใช้นุ่งห่ม ก่อนจะใช้สอยพึงย้อมให้ได้สี และทำพินทุ (ใช้ดินสอดำทำเครื่องหมายที่มุมผ้า 3 จุด พร้อมกับเปล่งคำพินทุ) แล้วจึงอธิษฐานใช้ได้ คำพินทุว่า อิมัง พินทุกัปปัง กะโรมิ แปลว่า เราทำเครื่องหมายด้วยจุดนี้
คำอธิษฐานบริขาร สิ่งเดียว
1. สังฆาฏิ อธิษฐานว่า อิมัง สังฆาฎิง อธิษฐามิ
2. จีวร อธิษฐานว่า อิมัง อุตตะราสังฆัง อธิษฐามิ
3. สบง อธิษฐานว่า อิมัง อันตะระวาสะกัง อธิษฐามิ
4. บาตร อธิษฐานว่า อิมัง ปัตตัง อธิษฐามิ
5. ผ้าปูนั่ง อธิษฐานว่า อิมัง นิสีทะนัง อธิษฐามิ
6. ผ้าอาบน้ำฝน อธิษฐานว่า อิมัง วัสสิกะสาฎิกัง อธิษฐามิ
7. ผ้าปูที่นอน อธิษฐานว่า อิมัง ปัจจัตถะระณัง อธิษฐามิ
8. ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดปาก อธิษฐานว่า อิมัง มุขะปุญฉะนะโจลัง อธิษฐามิ
9. ผ้าที่ใช้เป็นบริขารทั่วไป อธิษฐานว่า อิมัง ปะริกขาระโจลัง อธิษฐามิ
การถอนอธิษฐาน
การยกเลิกอธิษฐานบริขารเดิม เพื่อจะอธิษฐานบริขารใหม่ เรียกว่า ปัจจุทธรณ์ จะแสดงสังฆาฏิเป็นตัวอย่างว่า อิมัง สังฆาฏิง ปัจจุทธะรามิ แปลว่า เรายกเลิกสังฆาฏิผืนนี้ ถ้ายกเลิกบริขารอื่นๆ พึงเปลี่ยนตามชื่อนั้นๆ
ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ๑๐ อย่าง
๑.บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า,บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว / อาการกิริยาใดๆของสมณะ / เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ
๒. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า, ความเลี้ยงชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น / เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย
๓. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า, อาการกายวาจาอย่างอื่น / ที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ / ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้
๔. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า, ตัวของเราเอง / ติเตียนตัวเราเองโดยศีลได้หรือไม่
๕. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า, ผู้รู้ใคร่ควรแล้ว / ติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่
๖. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า, เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๗. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า, เรามีกรรมเป็นของตัว / เราทำดีจักได้ดี ทำชั่ว จักได้ชั่ว
๘. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า, วันคืนล่วงไปล่วงไป / บัดนี้เราทำอะไรอยู่
๙. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า, เรายินดีในที่สงัดหรือไม่
๑๐. บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า, คุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ / ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน / ในเวลาเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง