กุศลกรรมบท 10 ประการ
1. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ที่มีชีวิตให้ตาย และไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า สร้างจิตให้เมตตารักใคร่คน และสัตว์ดิรัจฉาน มีความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะให้คน มีความปราศจากทุกข์โดยทั่วหน้ากัน มีความกรุณาสงสารคนและสัตว์ผู้ประสบความทุกข์ยาก งดเว้นการเบียดเบียนให้คนและสัตว์เดือดร้อน เช่น ทำให้อวัยวะ มีแขน ขา เป็นต้น ของคนและสัตว์ให้หักหรือพิการ หรือทรมานสัตว์ให้ได้รับความเหนื่อยยากลำบาก มีมุทิตาพลอยยินดีในเมื่อคนและสัตว์ได้ดี มีลาภ มียศ มีความสุข ความเจริญ งดเว้นจากการอิจฉาริษยาคนและสัตว์ที่ดีกว่าตน และตั้งจิตเป็นอุเบกขาวางเฉย ในเมื่อประสบคนและสัตว์ที่ถึงความปิติ จนไม่สามารถจะช่วยได้ โดยพิจารณาว่าเป็นกรรมของคนและสัตว์นั้นเอง
2. งดเว้นจากการลักขโมยสิ่งของ ๆ คนและสัตว์ และไม่ใช้ให้ผู้อื่นลักขโมย ไม่หลอกลวงให้ผู้อื่นต้องเสียทรัพย์และชื่อเสียง
หมั่นบำเพ็ญทาน และสละทรัพย์ และสิ่งของให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น และสาธารณประโยชน์เสมอ ๆ เพื่อทำให้จิตใจบรรเทาเบาบางลงจากความตระหนี่ และความโลภอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน
3. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ไม่ข่มขืน ทำลามกอนาจาร ล่วงละเมิดสิทธิสตรีและบุรุษอื่น เรียกว่าไม่ทำชู้ในสามีและภรรยาของผู้อื่น พยายามถือสันโดษ ยินดีเฉพาะในภรรยาหรือสามีของตนเท่านั้น ไม่รักหญิงอื่นยิ่งกว่าภรรยาของตน
แม้สิ่งของใด ๆ ของใคร ๆ ก็ไม่ถือโอกาสเอาไปใช้ หรือแตะต้องก่อนได้รับอนุญาติจากเจ้าของ โดยถือหลักว่า “เมื่อไม่มีสิ่งที่ตัวชอบ จงชอบสิ่งที่ตัวมี”
4. งดเว้นจากการพูดเท็จ คือ ไม่พูดโกหกหลอกลวงให้ผู้อื่นเข้าใจผิดตามที่ตนพูด เช่น สิ่งใดที่เรารู้เราเห็น เมื่อเขาถาม เรากลับตอบว่าเราไม่รู้เราไม่เห็น และสิ่งใดที่เราไม่รู้ไม่เห็น แต่กลับตอบว่าเรารู้เราเห็น เป็นต้นเช่นนี้
พยายามพูดแต่คำที่สัตย์จริง หากคำใดเราเห็นว่าพูดออกไปแล้วแม้เป็นความจริง แต่จะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เราก็งดเสียไม่พูดเลย เพราะถ้าไม่พูดคำจริงเราก็พูดเท็จ อันเป็นการทำให้เราเสียกุศลกรรมบถอันนี้
5. งดเว้นจากการพูดส่อเสียด ได้แก่การฟังข้างนี้ แล้วเอาไปบอกข้างโน้น เพื่อจะทำลายข้างนี้ หรือได้ฟังข้างโน้นแล้วเอามาบอกข้างนี้ เพื่อจะทำลายข้างโน้น คือ มุ่งหมายยุยงให้เขาแตกจากกัน ทำลายความพร้อมเพรียงกัน
ส่งเสริมผู้ที่แตกกันแล้วให้แตกมากยิ่งขึ้น ยินดีเพลิดเพลินในความเป็นพรรคเป็นพวก เข้าข้างพวกโน้นบ้างพวกนี้บ้าง ทำพรรคต่อพรรคให้แตกจากกัน ตั้งใจพูดแต่คำที่จะสมานไมตรีเชื่อมโยงให้คนโน้นคนนี้มีความรักใคร่ นับถือกัน พูดให้พรรคต่อพรรคปรองดองกลมเกลียวสามัคคีกัน ถ้าเห็นว่าจะช่วยให้เขาสามัคคีกันไม่ได้ก็งดเสีย
6. งดเว้นจากการพูดวาจาหยาบคายที่เผ็ดร้อน ที่เป็นปม เป็นที่ขัดข้องของผู้อื่น เป็นที่ระคายหูของผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ยิ่งเป็นคำด่าคำแช่ง แม้แต่กับสัตว์ดิรัจฉานก็ไม่ควรพูดเลย เพราะเป็นการส่อสันดานของตนเองว่าเป็นคนเลว
พยายามพูดแต่คำที่อ่อนหวาน เรียบร้อย นุ่มนวล ละมุนละไม เป็นที่พอใจชุ่มชื่นเบิกบานใจของผู้ที่ได้ยินได้ฟัง
7. งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ได้แก่ งดการพูดในเวลาที่ไม่ควรพูด ในสถานที่ที่เขาไม่ต้องการให้เราพูด การพูดมากไปกว่าความจริง พูดไม่มีเหตุผล พูดวาจาไม่มีหลักฐาน ไม่พูดตามธรรมวินัย พูดไม่รู้จักหยุด แม้ไม่มีใครอยากฟังแล้วก็ยังพูดเรื่อยเปื่อยไปโดยไม่มีประโยชน์
ต้องใช้สติสัมปชัญญะในการพูดทุกครั้ง ถึงเป็นเรื่องจริงก็ต้องพูดให้ถูกกาลเทศะ พูดให้มีเหตุผลพอที่จะเชื่อถือได้ พูดให้ถูกตามธรรมตามวินัย พูดแต่พอเหมาะพอสมควรไม่ให้มากเกินเรื่องราวจนจับไม่ได้ว่าเรื่องอะไร ซึ่งเรียกว่า “พูดเป็นน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง” หรือ “พูดกระบุงเอาสักกระบายไม่ได้” ดังนี้ ถ้าเห็นว่าพูดแล้วมีประโยชน์แก่ผู้ฟังจึงพูด ถ้าเห็นว่าพูดแล้วจะไม่มีประโยชน์เลยก็อย่าพูดเสียดีกว่า จงนึกถึงภาษิตโบราณไว้เสมอว่า
“อันดีชั่วสุดนิยมที่ลมปาก
จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
จะถูกผิดเป็นมนุษย์เพราะพูดจา
จะเจรจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ”
8. ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ได้แก่ เมื่อเห็นพัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้สอย ทั้งที่มีวิญญาณ และไม่มีวิญญาณของผู้อื่นแล้ว แม้ตนจะชอบพอใจก็ไม่พยายามเพ่งว่า ขอให้สมบัติของผู้นั้นจงมาเป็นของเรา หรือครุ่นคิดแต่ในใจว่า ทำไฉนเราจึงจะได้ทรัพย์สมบัติของผู้นั้นหนอดังนี้
จงพยายามคิดให้เห็นว่า ทรัพย์สมบัติเครื่องใช้สอยอย่างดีเป็นอันมาก เกิดขึ้นแก่ผู้นั้นก็เพราะเขาได้ทำความดีเป็นบุญเป็นกุศลมาก่อน แม้ชาตินี้เราไม่เห็นเขาทำอะไร ก็คงเป็นเพราะเขาทำมาแล้วแต่อดีตชาติโน้น ผลจึงเกิดสนองให้เขาเป็นคนมั่งมีด้วยทรัพย์สมบัติอันน่าปลื้มใจ เช่นนั้นถ้าเราไปโลภอยากได้ของเขา จะทำให้เกิดเป็นบาปแก่ใจ คือเป็นสนิมเกาะกินจิตใจของเราเหมือนสนิมอันเกิดแก่เหล็ก และเกาะกินเนื้อเหล็กฉะนั้น ทำให้จิตใจของเรากร่อนอ่อนกำลังลงไม่สามารถจะทำความดีอย่างอื่นได้
ควรพยายามแสดงมุทิตาจิตพลอยยินดีต่อผู้นั้น แล้วพยายามบำเพ็ญบุญกุศล เช่นให้ทาน เสียสละความโลภของตนให้เบาบางลง และขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่นในการทำความดีเป็นต้น ผลจะบังเกิดแก่ตนเองในภายหลัง
9. ไม่พยาบาทปองร้ายเขา คือ ไม่คิดอยากให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่จองเวรต่อสัตว์และคนอื่น ไม่ตั้งใจที่จะให้ใคร ๆ เป็นผู้ฉิบหาย หรือวิบัติด้วยประการใด
แม้จะโกรธเคืองใครบ้าง โดยที่เขามาทำอะไรให้เสียหาย หรือมาด่าว่าให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ ก็ไม่อาจอาฆาตพยาบาทจองเวรผู้นั้นต่อไปอีก เช่น เขามาทำร้ายเราก็ให้คิดเสียว่า เพราะเราระวังตัวไม่ดีหรือเพราะเราเคยทำร้ายให้เขาเดือดร้อนมาก่อนแล้ว กรรมจึงติดตามมาสนองเรา ขอให้เป็นการใช้หนี้
กรรมกันสุดสิ้นแต่เพียงชาตินี้เถิด หรือเขามาโกงเงินเรา โดยยืมไปแล้วไม่ใช้คืน หรือเข้าหุ้นกันแล้วเขาโกงไปเสีย เช่นนี้จงคิดว่าเราเคยโกงเขามาแล้วในชาติก่อนโน้น เขาจึงโกงเอาคืนไป ขอให้สิ้นสุดเวรกรรมกันเสียที ตั้งใจแผ่เมตตาให้เขาเหล่านั้นจงเป็นผู้มีความสุขปราศจากทุกข์ มีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปเถิด อย่าพยาบาทจองเวรซึ่งกันและกันเลย พิจารณาให้เห็นโทษว่า การพยาบาทนั้นมันทำให้เราเดือดร้อนกระวนกระวาย กระสับกระส่ายเป็นทุกข์ใจไปคนเดียว เราเป็นผู้ขาดทุนคนเดียวแท้ ๆ จักผ่อนคลายความพยาบาทลงได้มากทีเดียว หรือคิดให้เห็นว่า ความพยาบาทนี้หากจองเวรกันตลอดไปแล้วย่อมไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนงูเห่ากับพังพอน
10. เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม ได้แก่ เห็นว่าบุญมีจริงบาปมีจริง ผลของบุญมี ผลของบาปมี คนทำดีย่อมได้ดี คนทำชั่วย่อมได้ชั่ว นรกมี สวรรค์มี และนิพพานก็มี โลกนี้โลกอื่นมี ชาตินี้ชาติหน้ามี
สัตว์ที่ยังมีกิเลสทำกรรมไว้ ตายแล้วย่อมต้องเกิดเสวยผลของกรรมนั้นอีก ผู้ที่ไม่มีกิเลสอันเป็นเหตุให้ทำกรรมมีจิตสงบบริสุทธิ์หมดจดตายแล้วย่อมไม่ ต้องเกิดอีก เพราะหมดเหตุหมดปัจจัยอันจะทำให้เกิดแล้ว
จงระวังอย่าให้จิตเห็นผิดว่านรกไม่มี สวรรค์ไม่มี นิพพานไม่มี ทำบุญไม่ได้บุญ ทำบาปไม่ได้บาป คนจะดีชั่วก็ดีเองชั่วเอง พ่อแม่ไม่มีตายแล้วก็สูญ เกิดมาแล้วต้องกินให้เต็มที่ สนุกให้เต็มที่ ดังนี้
ตายไม่สูญ.......แล้วไปไหน
ทำอย่างไร ให้เข้าถึงจริง........ซึ่งทุกสิ่งคือความทุกข์ ไม่จีรัง ไม่ยั่งยืน.......ก็ต้องคืนในความจริง สู่ธรรมชาติของทุกสิ่ง......เราต้องขอเอาไปทิ้ง ซึ่งขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา.......เมื่อตัดขันธ์ และทุกสิ่ง มุ่งสู่นิพพาน ซึ่งเป็นจริง......มีแต่สุข ไม่ทุกข์เอย..
ระพุทธเจ้าได้เคยตรัสไว้ว่า เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ทางที่ไปมี 5 สาย คือ
- อบายภูมิ ได้แก่ เกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉาน คือเป็นบุคคลที่ละเมิดศีล 5 เมื่อตายจากคนแล้วไปสู่อบายภูมิ
- เกิดเป็นมนุษย์ ผู้ที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีกนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีกรรมบท 10 เป็นคนมีศีล 5 ประจำ
- เกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้าอยู่บนสวรรค์ จะต้องเป็นผู้ที่มีความละอายต่อความชั่ว เกรงผลของความชั่วทั้งต่อหน้าและลับหลัง
- เกิดเป็นพรหม จะต้องเป็นนักกรรมฐาน มีอารมณ์จิตเป็นฌาน คือเข้าฌานตาย
- ไปนิพพาน แดนเกิดสายที่ 5 แดนนิพพานนี้ คนที่จะถึงพระนิพพานได้นั้นจะต้องมีความบริสุทธิ์ 10 อย่างคือ
- ไม่เมาในตนเองหรือวัตถุ รู้เสมอว่าจะต้องตายและพลัดพรากจากของรัก
- ไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนว่าไม่มีอะไรทรงสภาพเป็นปกติได้ ทุกสิ่งทุกอย่างเสื่อมไปตามกาลเวลา และทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
- รักษาศีลมั่นคง ดำรงจิตอยู่ในศีลเป็นปกติ
- ทำลายความใคร่ในกามารมณ์ให้สิ้นไปจากใจ รู้อยู่เสมอว่าความรักเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
- มีจิตใจเมตตาปราณี ไม่จองล้างจองผลาญคิดทำอันตรายใคร
- ไม่มัวเมาในรูปฌาน ไม่สนใจใยดีในความดีที่ตนยังไม่ได้
- ไม่มัวเมาอรูปฌาน โดยคิดว่าความดีเพียงเท่านี้ยังไม่สิ้นทุกข์
- มีอารมณ์เป็นปกติ มีจิตใจที่เต็มไปด้วยความหวังดี
- ไม่ถือตนว่าเป็นคนดี ทะนงตนว่าดีเลิศประเสริฐกว่าใคร
- ตัด ความรักใคร่ในโลกีย์วิสัยให้หมด ทำอารมณ์เป็นพระพุทธในพระอุโบสถ คือ จะดีจะชั่วก็ยิ้ม เพราะเห็นเป็นธรรมดา รู้ตัวอยู่เสมอว่าจะต้องตาย ไม่สะดุ้งหวาดกลัว มีอารมณ์ใจปกติ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่ผูกพันทรัพย์สิ้นหรือสัตว์หรือบุคคลอื่น เท่านี้ก็ไปพระนิพพานได้
-