|
เวียนว่ายตายเกิด และ กฏแห่งกรรมมีจริง - 55 ไตรลักษณ์
|
|
|
ไตรลักษณ์ มี 3 ประการ คือ
1. สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมา ไม่เที่ยงแท้ถาวร แปรเปลี่ยนไปตามกาล และดับไปตามกาลเวลา ไม่มีอะไรที่เป็นอมตะนิรันดร์กาลมีแต่ในคำพูดเล่นสำนวนเท่านั้น
2. สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมา ล้วนคงอยู่ในสภาวะเดิมไม่ได้แม้วินาทีเดียว ที่เราเห็นว่ามันคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงเลยนั้น เพราะ "ความถี่" แห่งการเปลี่ยนแปลงมันสูง มันเร็วมาก จนมองไม่เห็นว่ามันเปลี่ยน ดุจมองเปลวไฟที่เกิดดับ เกิดดับ ตลอดเวลา เป็นเปลวเดียวไม่เกิด ไม่ดับเลยฉะนั้น
3. สรรพสิ่งเป็นเพียง "ก้อนธรรมชาติ" ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวขององค์ประกอบต่างๆ เท่านั้น ตราบใดที่องค์ประกอบเหล่านั้นยังคงทำงานร่วมกันอยู่ สิ่งนั้นก็ดำรงอยู่ได้ แท้ที่จริงหามี "ตัวตน" ที่แท้ไม่
ยกตัวอย่างคนเรานี่แหละ ไม่ต้องยกอื่นไกล ที่เรียกว่า "คน" ที่เรียกว่า นายดำ นายแดงนั้น เป็นเพียงส่วนประกอบขององค์ประกอบ 5 ส่วน อันเรียกว่า "ขันธ์ 5" คือ
ส่วนที่เป็นรูปธรรม คือร่างกาย อันประกอบขึ้นจากดิน น้ำ ลม ไฟ
ส่วนที่เป็นนามธรรม คือการรับรู้ ความจำได้หมายรู้ ความรู้สึกต่างๆ และความคิดปรุงแต่งต่างๆ
พูดสั้นๆ ว่ารูปกับนาม หรือรูปธรรม กับนามธรรม
ส่วน ประกอบเหล่านี้มันเองก็ไม่เที่ยงแท้ แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ถึงเวลาอันสมควรมันก็ดับสลายไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครบังคับมันได้ เช่น ถึงคราวมันเสื่อมไปตามกาล ฟันที่แข็งแรงดี มันก็โยกคลอน ผมที่ดำสลวยมันก็หงอก ผิวหนังที่เต่งตึงมันก็เหี่ยวย่น หย่อนยาน ใครห้ามมันได้ล่ะ
ขนาดวิ่งไปหาหมอศัลยกรรม ดึงนั่น ปะนี่ ก็เพียงชะลอไว้ชั่วครู่ชั่วกาลเท่านั้น บางคนทำแล้วแทนที่จะสวยจะดีกว่าเดิม กลับน่าเกลียดไปกว่าเดิมก็มี (ฉีดซิลิโคนให้หน้าอกเต่งตึง ไม่ทันไร มันละลายห้อยโตงเตงเป็นฟักแฟงเสียอีกแน่ะ น่ากลุ้มแทนชะมัด)
เมื่อ ส่วนประกอบแต่ละอย่างมันไม่เที่ยงแท้ถาวร เป็นไปตามกฎธรรมดา จะหา "ตัวตน" ที่แท้จริงได้ที่ไหน นายนั่น นางนี่ ก็เพียงคำสมมติเรียกกันเท่านั้นเอง เอาเข้าจริงนายนั่น นางนี่ก็ไม่มี
บางครั้งพระพุทธเจ้าก็ตรัสเรียกหลักคำสอนที่ว่านี้ว่า "ปัจจยาการ" (อาการที่เป็นปัจจัย อาการที่มันอาศัยกันเป็นไป)
ท่านสอนหลักกว้างๆ ว่า
"เมื่อสิ่งเหล่านี้มี สิ่งเหล่านั้นก็มี เพราะสิ่งเหล่านี้เกิด สิ่งเหล่านั้นก็เกิด
เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่มี สิ่งเหล่านั้นก็ไม่มี เพราะสิ่งเหล่านี้ดับ สิ่งเหล่านั้นก็ดับ"
นี้เป็น "สูตร" กว้างๆ คำอธิบายก็คือ ทุกอย่างเป็น "ปัจจัย" (อิงอาศัยกัน) ไม่มีอะไรอยู่ได้ลอยๆ ต่างหาก โดยไม่อิงอาศัยสิ่งอื่น
และเพราะมันอิงอาศัยกันอย่างนี้ จึงไม่มีอะไรเที่ยงแท้ถาวรหรืออยู่ได้โดดๆ
สมัยเป็นเด็ก ผู้ใหญ่เล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่ง ตอนนั้นก็ไม่รู้ดอกว่านิทานมันสอนอะไร มารู้เอาเมื่อโตแล้ว
นิทาน มีอยู่ว่า อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ต่างก็ทำหน้าที่ของตัวไม่ก้าวก่ายกัน เมื่อมันทำหน้าที่ของตัวโดยสมบูรณ์ ร่างกายก็เป็นไปได้ตามปกติ ไม่ติดขัด หรือขัดข้องอะไร อยู่มาวันหนึ่งอวัยวะต่างๆ เหล่านี้ เกิดถกเถียงกันขึ้น
มือ คุยโม้กับเพื่อนว่า ในบรรดาอวัยวะเหล่านี้ ข้า (มือ) สำคัญที่สุด ที่คนไม่ตายก็เพราะกินอาหาร ถ้าข้าไม่หยิบอาหารเข้าปาก คนก็ตายแหงแก๋แล้ว
เท้า เถียงว่า ไม่จริงดอก ข้าต่างหากสำคัญกว่า ถ้าข้าไม่เดินไปหาอาหาร เอ็งก็ไม่มีปัญญาหยิบอาหารใส่ปาก
ตา บอกว่า ข้าต่างหากมีความสำคัญ ถ้าตามองไม่เห็น ถึงจะมีตีน มีมือ มันก็หยิบไม่ถูกหรอกเว้ย
ปาก เถียงว่า พวกท่านล้วนหาความสำคัญไม่ ข้า (ปาก) ต่างหาก ถ้าข้าไม่อ้าปากรับอาหาร จ้างก็ไม่มีทางอิ่ม อดตายแหงๆ
ฟัน ก็บอกว่า ถึงเอ็งจะอ้ารับอาหาร ถ้าข้าไม่เคี้ยว ก็ไม่มีทางกินอาหารได้ ตายอยู่ดีแหละ
กระเพาะ เถียงว่า ถึงเอ็งเคี้ยวกลืนอาหารเข้าไป ถ้าข้าไม่ทำหน้าที่ย่อย ก็ท้องอืดตายแน่นอน เพราะฉะนั้น ข้า (กระเพาะ) สำคัญกว่าใครเว้ย
ตูด เถียงว่า อะไรๆ ก็สู้ข้าไม่ได้ดอก ถึงกระเพาะจะย่อยอาหาร เหลือแต่กาก แต่ขี้ ถ้าข้าไม่ระบายออกรูก้นแล้ว รับรองเน่าตาย เหม็นยิ่งกว่าหมาเน่าลอยน้ำอีก อย่ามัวแต่เถียงกันเลย เชื่อเถอะข้า (ตูด) สำคัญที่สุด
เมื่ออวัยวะทั้งหลายถกเถียงกันอย่างนี้ไม่มีใครยอมใคร ในที่สุดก็ประท้วง ไม่ทำหน้าที่ของตัว วันเวลาผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ "คน" (อันเป็นองค์รวมของอวัยวะทั้งหมด) ก็ล้มป่วยลง และสิ้นชีวิตเพราะขาดอาหารในที่สุด
"สาระ" ที่นิทานเรื่องนี้สื่อให้รู้ก็คือ อวัยวะทุกส่วน ต่างต้องอาศัยกัน อยู่โดยลำพังไม่ได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างทำงานร่วมกัน "คน" ก็อยู่ได้ ไม่ตาย แต่ถ้าแต่ละฝ่ายขัดแย้งกัน "คน" (ที่เป็นองค์รวม) ก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน
นี้ แหละครับคือหลัก "ปัจจยาการ" (อาการที่ทุกสิ่งอาศัยกันเป็นไป) หลักคำสอนนี้สามารถนำมาปรับใช้กับการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี
สังคมจะอยู่อย่างสันติสุข มีความเจริญก้าวหน้า ก็เพราะแต่ละคนมีส่วนสำคัญ และสำคัญทัดเทียมกัน ในการสร้างสรรค์จรรโลง คนละไม้คนละมือ
ไม่มีใครสำคัญที่สุดเพียงคนเดียว ไม่มีใครไร้ค่าโดยสิ้นเชิง
ทุกคนมีความสำคัญและมีส่วนร่วมเสมอๆ กัน
พูดภาษาพระก็ว่า ทุกคนต่างเป็น "ปัจจัย" หรือทุกคนต่างอิงอาศัยกัน ในอันที่จะสร้างสรรค์จรรโลงสังคมให้เจริญก้าวหน้าและประสบสันติสุข
คำสอนเรื่องปัจจยาการ ทำให้เรามองกว้าง มองลึก เข้าใจความจริงครบถ้วนสมบูรณ์
ในบางโอกาส พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "หลักแห่งเหตุผล" โดยแสดงครบชุดในหลักอริยสัจ 4 คือ
ทุกข์ และ นิโรธ เป็น ผล
สมุทัย และ มรรค เป็น เหตุ
ทรง ชี้ว่า ความทุกข์ (ปัญหาของชีวิตทุกรูปแบบ) ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ มันมีเหตุเป็นแดนเกิด และเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิดนั้นก็คือ ตัณหา (ความทะยานอยาก) ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น ในสิ่งที่ยังไม่ได้ ยังไม่มี ยังไม่เป็น ไม่ว่าจะอยากให้สิ่งที่น่าปรารถนาที่ได้แล้ว มีแล้ว เป็นแล้ว คงอยู่ตลอดไป หรือไม่ว่าอยากสลัดทิ้งสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป สรุปว่า ความอยากของคนนี้แหละเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์
|
|
|
|
|