แนวคิดเชิงพุทธของความวิตกกังวล
ศ.นพ.จำลอง ดิษยวณิช*
ศ.ดร.พริ้มเพรา ดิษยวณิช*
ความวิตกกังวล (anxiety) เป็นความรู้สึกเชิงจิตวิสัยอย่างหนึ่งของความไม่สบายใจ และความหวาดหวั่น เกี่ยวกับการคุกคามบางอย่างที่จะมาถึงซึ่งไม่ทราบว่าเป็นอะไร การคุกคามมักเกี่ยวข้องกับร่างกาย เช่น มีสิ่งที่ทำให้ร่างกายบาดเจ็บเป็นอันตรายหรือถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนทางจิตใจมักเป็นการคุกคามต่อความภูมิใจแห่งตน (self-esteem) และความผาสุก (well-being)(1)
Freud (1856-1939)(2) เป็นนักจิตวิทยารุ่นแรกๆ คนหนึ่ง ที่สนใจถึงความสำคัญของความวิตกกังวล และได้แยกให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ความวิตกกังวลเชิงวัตถุวิสัย (objec-tive anxiety) และความวิตกกังวลเชิงโรคประสาท (neurotic anxiety) ความวิตกกังวลแบบแรกเป็นการตอบสนองอย่างแท้จริง และมีเหตุผลต่ออันตรายที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ Freud ให้ทัศนะว่า objective anxiety มีความหมาย เช่นเดียวกับความกลัว (fear) โดยปกติความกลัวที่แท้จริงนั้นจะต้องมีภยันตรายจากภายนอก (external danger) และเกิดขึ้นสมส่วนกับเหตุการณ์นั้นๆ ส่วน neurotic anxiety เกิดมาจากความขัดแย้งในจิตไร้สำนึก (unconscious conflicts) ไม่มีสิ่งคุกคามจากภายนอกที่เห็นได้ชัด หรือถ้ามีความรู้สึกทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นก็มักไม่สมส่วน นอกจากนั้นคนส่วนมากมักไม่ทราบต้นตอหรือสาเหตุของ neurotic anxiety
นักจิตวิทยาและจิตแพทย์หลายท่าน เห็นคุณประโยชน์ของการแยกความแตกต่างระหว่างความกลัว (fear) กับความวิตกกังวล (anxiety) อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถแยกอารมณ์ทั้งสองอย่างนี้ออกจากกันได้ชัดเจน ไม่ว่าจะในแง่ของการตอบสนองทางสรีรวิทยาหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น อีกประการหนึ่ง ได้มีความพยายามที่จะชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่าง ความวิตกกังวลปกติ (normal anxiety) กับความวิตกกังวลที่ผิดปกติหรือมีพยาธิวิทยา (morbid or pathological anxiety) ความวิตกกังวลเพียงเล็กน้อย หรือในระดับที่ไม่มากจนเกินไปจะมีลักษณะเป็นแรงจูงใจ (motive) ที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งทำให้คนเรากระตือรือร้นที่จะจัดการหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปด้วยดี สำหรับคนทั่วไปถ้าใครไม่มีความวิตกกังวลเลย ก็อาจกลายเป็นคนเฉื่อยแฉะแบบเช้าชามเย็นชาม แต่ถ้าความวิตกกังวลเกิดขึ้นบ่อยกว่าและคงอยู่นานกว่าจนคนเราไม่สามารถหาทางจัดการหรือทนต่อไปอีกได้ และมีผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน แสดงว่าความวิตกกังวลที่ผิดปกติได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว
ความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ สภาวะวิตกกังวล (state anxiety) กับลักษณะนิสัยวิตกกังวล (trait anxiety) คำว่าสภาวะวิตกกังวล เป็นความกระวนกระวาย ความหวาดหวั่น ความกังวล ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ส่วนลักษณะนิสัยวิตกกังวล เป็นบุคลิกภาพอันยาวนาน (long-term perso-nality) ที่จะเกิดความวิตกกังวล เมื่อถูกยั่วยุโดยสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดความเครียด ความถี่ของความรู้สึกที่เกิดขึ้นอาจสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัย (trait) ของคนๆ นั้น บางทีเรียกว่าความวิตกที่เป็นลักษณะเฉพาะหรือพื้นฐาน (charac-teristic or basic anxiety) ความวิตกกังวลแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ถาวรหรืออารมณ์นิสัย (temperament) ซึ่งเป็นความโน้มเอียงของอารมณ์ของแต่ละบุคคลในการตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อม ซึ่งแสดงออกมาให้เห็นตั้งแต่ในวัยเด็ก ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าบางคนมีแนวโน้มที่จะเกิดความวิตกกังวลได้ง่ายและบ่อยกว่าคนอื่น ทั้งๆ ที่เผชิญกับความขัดแย้ง หรือปัญหาแบบเดียวกัน(3)
ความวิตกกังวลอาจมีลักษณะฟุ้ง หรือลอยตัวเป็นอิสระ (free-floating anxiety) ซึ่งหมายความว่า ความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นค่อนข้างสม่ำเสมอและมีลักษณะกระจายทั่วไป (diffuse in nature) มักไม่ติดอยู่กับความคิด หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่มีสิ่งกระตุ้นและส่วนมากเกิดจากความขัดแย้งในจิตไร้สำนึก (unconscious conflicts) ความวิตกกังวลอาจเป็นแบบเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัว (situational or phobic anxiety) ซึ่งในกรณีนี้ความวิตกกังวลอย่างรุนแรงและท่วมท้นที่เรียกว่าความตื่นตระหนก (panics) ถูกกระตุ้นโดยเหตุการณ์ (ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการเข้าสังคม) หรือวัตถุสิ่งของโดยจำเพาะ (เช่น สัตว์ เชื้อโรค มีด ที่แคบและที่สูง เป็นต้น) ความวิตกกังวลทั้งสองแบบนี้อาจเกิดร่วมกัน และกระตุ้นสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึกทำให้ความวิตกกังวลที่มีลักษณะฟุ้ง (free-floating anxiety) รุนแรงมากขึ้นในสถานการณ์บางอย่าง
กิเลส 3 ประเภท
เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจ เรื่องความวิตกกังวล (anxiety) ในทรรศนะของพุทธศาสนา จะขอกล่าวถึงเรื่องกิเลสก่อน กิเลส (mental defilements) หมายถึงสิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง และเร่าร้อน กิเลสที่ครอบงำจิตใจของสัตว์โลกนั้นมีมากมายหลายอย่าง แต่สามารถแบ่งออกได้เป็นสามประเภทดังนี้(4-8)
1. อนุสัยกิเลส (Latent Defilements)
เป็นกิเลสอย่างละเอียดที่สะสมอยู่ในภวังคจิต (life-continuum) หรือ จิตไร้สำนึก (the unconscious) ของคนเรา ถ้ายังไม่มีอารมณ์ภายนอกมากระทบแล้ว กิเลสชนิดนี้จะยังนอนสงบอยู่ ไม่แสดงอาการปรากฏออกมาให้เห็น เป็นกิเลสที่ละเอียดอย่างยิ่ง และนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของทุกคน จะแสดงตัวก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยมากระตุ้น อุปมาเหมือนตะกอนที่นอนอยู่ก้นแก้ว น้ำในแก้วดูใสสะอาด ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะมองไม่เห็นตะกอนที่สะสมอยู่เบื้องล่าง ตะกอนนี้เปรียบได้กับอนุสัยกิเลส ซึ่งมีอยู่ 7 อย่าง ได้แก่ 1) กามราคะ คือความกำหนัดในกาม 2) ปฏิฆะ คือความขัดเคืองหรือโทสะ 3) มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด 4) วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย 5) มานะ คือ ความถือตัว 6) ภวราคะ คือความกำหนัดในภพ และ 7) อวิชชา คือ ความไม่รู้หรือโมหะ กิเลสชนิดนี้นอกจากพระอรหันต์แล้วย่อมมีนอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงจุติ จึงกล่าวได้ว่าไม่มีอุปปาทะ (การเกิดขึ้น) ฐิติ (การตั้งอยู่) และภังคะ (การดับไป) ไม่ปรากฏอาการให้เกิดเป็นความรู้สึกขึ้นโดยประการใดเลย(4) กิเลสอย่างละเอียดนี้สามารถขจัดและทำลายได้ด้วยปัญญา (wisdom) ที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น
2. ปริยุฏฐานกิเลส (Internally Active Defilements)
เป็นกิเลสอย่างกลาง เมื่อมีอารมณ์มากระทบ อนุสัยกิเลสที่นอนสงบอยู่ในภวังคจิตจะฟุ้งกระจาย ทำให้จิตใจขุ่นมัวและฟุ้งซ่าน ในสภาวเช่นนี้อนุสัยกิเลสจะเปลี่ยนฐานะกลายเป็นปริยุฏฐานกิเลสในวิถีจิต (the thought process) ทันที เช่นเดียวกันเมื่อมีสิ่งใดมากระทบกับแก้วน้ำอย่างแรง ทำให้ตะกอนที่นอนอยู่ก้นแก้วฟุ้งขึ้นมา น้ำที่เคยใสกลับมีลักษณะขุ่น ในทางจิตวิทยากิเลสอย่างกลางนี้จะปรากฏขึ้นในระดับจิตสำนึก (the conscious) และจิตก่อนสำนึก (the preconscious)(7)
กิเลสอย่างกลางนี้คือ กิเลสประเภทนิวรณ์ (hindrances) ซึ่งหมายถึงสิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม หรือสิ่งกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี นิวรณ์มีอยู่ 5 อย่างได้แก่(8)
1. กามฉันทะ หมายถึง ความรักใคร่หรือความยินดี บางทีเรียกว่ากามราคะ คือ มีความพอใจ และความอยากได้ในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส (สิ่งที่ถูกต้องกาย) ที่น่ารัก และน่ายินดี เป็นกิเลสพวกโลภะ ทำให้จิตอยากได้โน่นได้นี่อยู่เรื่อย ไม่สงบ ไม่ตั้งมั่น และไม่เป็นสมาธิ
2. พยาบาท หมายถึง จิตที่มีความอาฆาตและความปองร้าย เป็นความรุนแรง ความก้าวร้าว ความคับข้องใจ พยาบาทจัดว่าเป็นไฟชนิดหนึ่งที่ทำให้คนเราเร่าร้อน เรียกว่าไฟคือโทสะ มักเกิดจากการกระทบกระทั่งทางจิต จนเกิดเป็นความไม่พอใจ ความโกรธ และความแค้น พยาบาททำให้จิตใจ เคียดแค้น โกรธ ไม่ราบรื่น และไม่เป็นสมาธิ
3. ถีนมิทธะ หมายถึง ความหดหู่ และความเซื่องซึม แยกออกเป็น ถีนะ คือ ความหดหู่ ความห่อเหี่ยว ความท้อแท้ ความเหงาหงอย ความละเหี่ย ถีนะมีสภาพ ที่เป็นกิเลสและอาการของใจ ส่วนมิทธะ คือ ความเซื่องซึม ความเฉื่อยชา ความง่วงเหงาหาวนอน ถีนะ กับ มิทธะ เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน ถีนะมีหน้าที่ทำให้จิตง่วงเหงาท้อถอย ส่วนมิทธะมีหน้าที่ทำให้เจตสิกง่วงเหงาท้อถอย จิตที่ถูกครอบงำโดย ถีนมิทธะ ย่อมไม่เข้มแข็ง ไม่ว่องไว ไม่เหมาะแก่การงาน และไม่เป็นสมาธิ ถีนมิทธะ คือความหดหู่ และความเซื่องซึมนี้ ถ้ามีมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้า (depressive symptom) ได้
4. อุทธัจจกุกกุจจะ หมายถึง ความฟุ้งซ่าน และความรำคาญใจ คำนี้มาจากคำสองคำคือ อุทธัจจะ และกุกกุจจะ กิเลสทั้งสองอย่างนี้ต่างก็เป็นอกุศลเจตสิกเหมือนกัน และเกิดพร้อมกันด้วย อุทธัจจะ แปลว่า ความฟุ้งซ่านของใจ หรือสภาพที่ใจไม่สามารถตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวได้นาน ส่วนกุกกุจจะ แปลว่า ความรำคาญใจ ความกลุ้มใจ ความกังวลใจ จิตที่ถูกอุทธัจจกุกกุจ-จะครอบงำแล้ว ย่อมพล่าน ย่อมฟุ้ง วิตกกังวล ไม่อาจสงบลงได้ และไม่เป็นสมาธิ
กิเลสทั้งสองอย่างนี้พบได้เสมอในชีวิตประจำวันของคนเรา อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่านนี้มีอุปมาเหมือนขี้เถ้าที่บุคคลเอาก้อนอิฐหรือก้อนหินปาลงไปให้ฟุ้งขึ้น หรือ ดุจน้ำอันลมพัดให้ไหวกระเพื่อมอยู่ฉะนั้น ทำให้จิตไม่สงบระงับ และไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ในทางจิตวิทยาเรียกว่า ความวิตกกังวลที่ลอยตัวเป็นอิสระ (free-floating anxiety)(9) กล่าวคือเป็นความวิตกกังวลที่แผ่กระจายและไม่ติดอยู่กับความคิดใดๆ หรือเป็นอาการวิตกกังวลโดยไม่รู้สาเหตุ ความจริงมีสาเหตุอยู่แต่เป็นสาเหตุที่อยู่ในจิตไร้สำนึกที่ถูกเก็บสะสมเอาไว้มานานแล้ว มักเป็นความขัดแย้งในวัยทารกและวัยเด็ก เช่น ปมปิตุฆาต (Oedipus complex) ความโกรธของเด็กที่มีต่อบิดาหรือมารดา ความกลัวการพลัดพรากหรือการสูญเสีย เป็นต้น ในทางพุทธศาสนา อุทธัจจะมีต้นตอมาจากอนุสัยกิเลสในภวังคจิตที่ลอยตัวขึ้นมา และเปลี่ยนสภาพจากกิเลสอย่างละเอียดไปเป็นกิเลสอย่างกลาง
ส่วน กุกกุจจะ คือความรำคาญใจนี้ ในทางจิตวิทยาเรียกว่า ความวิตกกังวล (anxiety) หรือความกังวลใจ (worry) ทำให้จิตกระวนกระวาย เร่าร้อน เดือดร้อน และไม่มีโอกาสที่จะหยุดพักให้สบาย ดังที่ได้อธิบายมาแล้วจะเห็นได้ว่า อุทธัจจะคือ ความฟุ้งซ่าน และกุกกุจจะ คือความรำคาญใจที่ทำให้จิตใจ หงุดหงิด และขุ่นมัว ในทางพุทธศาสนานี้ สามารถเปรียบเทียบได้กับความวิตกกังวล (anxiety) ในทางจิตวิทยา กิเลสอย่างละเอียดที่เก็บสะสมไว้ในภวังคจิตบางส่วน อาจลอยตัวขึ้นมาสู่วิถีจิตทำให้เกิดอาการฟุ้งซ่าน และอาการรำคาญใจ มีลักษณะคล้ายคลึงกับความขัดแย้งในอดีตที่อยู่ในจิตไร้สำนึกที่เป็นสาเหตุของความวิตกกังวล(10)
5. วิจิกิจฉา หมายถึง จิตที่มีความสงสัยหรือความลังเลใจ ในทางธรรม ได้แก่ ความสงสัยในพระรัตนตรัย สงสัยว่าบาปบุญมีหรือไม่ รวมทั้งเรื่องของนรกสวรรค์ กฎแห่งกรรมและการเจริญภาวนา จิตที่มีความสงสัยเช่นนี้ ย่อมไม่ตั้งมั่น และไม่อาจแน่วแน่เป็นสมาธิ ในทางโลกความสงสัยนี้ยังเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันทำให้เกิดความขัดแย้ง (conflicts) และความไม่กล้าตัดสินใจ (indecisiveness) ที่จะทำอะไรลงไป ทำให้เวลาล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์
กิเลสอย่างละเอียดเมื่อเปลี่ยนสภาพเป็นกิเลสอย่างกลางจะมีลักษณะของการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และการดับไป กิเลสอย่างกลางหรือนิวรณ์ 5 นี้ สามารถขจัดได้ด้วยอำนาจของสมาธิหรือการเจริญสมถกรรมฐาน
3. วีติกกมกิเลส (Externally Active Defilements)
เป็นกิเลสอย่างหยาบที่ฟุ้ง วุ่นวาย และเร่าร้อนมากจนปรากฏออกมาเป็นพฤติกรรมทางกายและทางวาจา ทำให้บุคคล ครอบครัว และสังคมเดือดร้อน ความจริงแล้วกิเลสอย่างหยาบก็สืบเนื่องมาจากกิเลสอย่างกลางที่เปลี่ยนสภาพไปนั่นเอง ทำนองเดียวกันกับตะกอนในแก้วน้ำ ถ้ามีอะไรมากระทบกระเทือนแก้วน้ำมากจนเกินไป น้ำและตะกอนในแก้วก็หกลงบนโต๊ะ ผ้าปูโต๊ะ หรือ พื้นทำให้สกปรกเลอะเทอะได้ กิเลสชนิดนี้ ถ้าฟุ้งออกมาทางกายก็เป็นกายทุจริต 3 คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ และการประพฤติผิดในกาม รวมถึงการดื่มเหล้าและการใช้สารเสพติด และถ้าฟุ้งออกทางวาจาก็เป็นวจีทุจริต 4 คือ การพูดเท็จ การพูดคำหยาบ การพูดส่อเสียด และการพูดเพ้อเจ้อ วีติกกมกิเลสหรือกิเลสอย่างหยาบนี้มีลักษณะของการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และการดับไป กิเลสอย่างหยาบสามารถระงับลงได้ ด้วยอำนาจของศีล (morality) เช่น ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 และศีล 227 เป็นต้น
ทรรศนะเชิงจิตวิเคราะห์ของความวิตกกังวล
Offer และ Sabshin แบ่งภาวะปกติ (normality) ออกเป็น 4 ทัศนียภาพ(6,11) อย่างหนึ่งได้แก่ ภาวะปกติคือความสมบูรณ์ทุกประการ (normality as Utopia) คำว่า “Utopia” หรือ “อุดมรัฐ” เป็นดินแดนหรือสังคมแห่งความสมบูรณ์พูนสุขทุกอย่างตามอุดมคติ เมื่อมองตามทัศนียภาพนี้ ภาวะปกติ หรือคนที่มีสุขภาพจิตดีคือคนที่ไม่มีความเครียด และความวิตกกังวลเลย มีความสุขอย่างสมบูรณ์ ทำหน้าที่ได้เต็มความสามารถ และปราศจากความเห็นแก่ตัว มีการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมดี และมีความต้านทานต่อความกดดันหรือสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดต่างๆ ได้
Freud ผู้เป็นบิดาของจิตวิเคราะห์มีความเชื่อว่า ภาวะปกติเช่นนี้ไม่น่าจะมีได้โดยกล่าวว่า “อัตตาที่ปกติก็เหมือนกันกับภาวะปกติทั่วไป เป็นแต่เพียงสิ่งสมมติตามอุดมคติเท่านั้น (a normal ego like normality in general is an ideal fiction)”(12) แนวคิดเช่นนี้มิได้จำกัดอยู่แต่ในจิตวิเคราะห์เท่านั้น แม้แต่ Roger(13) ผู้พัฒนาวิธีการรักษาทางจิตใจที่เรียกว่า “client-centered therapy” ก็มีทรรศนะเช่นเดียวกัน กล่าวคือภาวะปกติที่ประกอบด้วยความสมบูรณ์ และความสุขตามอุดมการณ์อันสูงส่งนั้น เป็นเพียงจินตนาการหรือเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น Freud ยังกล่าวว่ามนุษย์ทุกคนมีอาการของโรคประสาทอย่างน้อยที่สุดเพียงบางส่วน(12) รวมความว่าจิตวิทยาสมัยใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตวิทยาตะวันตกมีแนวคิดว่า มนุษย์ทุกคนต้องมีความเครียด และความวิตกกังวลในระดับหนึ่งที่ไม่มากเกินไปจนเกิดผลเสียต่อสุขภาพจิต นอกจากนั้นความเครียดและความวิตกกังวลที่ไม่มากเกินไป และมนุษย์เราสามารถควบคุมได้นี้ก็มีลักษณะเป็นแรงจูงใจ (a motive) อย่างหนึ่งด้วย
ทรรศนะเชิงพุทธของความวิตกกังวล
พุทธศาสนามีแนวคิดว่า ความวิตกกังวลที่เรียกว่า อุทธัจจะและกุกกุจจะนั้นยังเป็นกิเลสอยู่ และมีระเบียบวิธีที่จะกำจัดให้หมดไปได้เพียงชั่วคราว หรือ โดยสิ้นเชิง อุทธัจจะ เป็นทั้งกิเลสอย่างกลาง และเป็นสังโยชน์อย่างหนึ่งในสังโยชน์* 10 อย่าง และยังจัดว่าเป็นสังโยชน์เบื้องสูงด้วย(5,14) ดังนั้น อุทธัจจะ นอกจากจะทำให้จิตของมนุษย์ ขุ่นมัว เศร้าหมอง และฟุ้งซ่านแล้ว ยังทำให้มนุษย์ติดอยู่ในสังสารวัฏแห่งความทุกข์ ถ้ามองว่าอุทธัจจะเป็นกิเลสอย่างกลาง กิเลสชนิดนี้สามารถละได้ด้วยสมาธิหรือสมถกรรมฐาน (concentration or meditation) เป็นความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยการกดระงับหรือการข่มไว้ (suppression) ด้วยพลังของสมาธิ เปรียบเสมือนหินทับหญ้า คือหญ้าไม่สามารถออกและเจริญเติบโตได้ แต่เมล็ดพันธุ์และรากยังอยู่ เมื่อยกเอาก้อนหินออก หญ้าได้รับแสงแดดและน้ำที่พรมลงมาจะเจริญงอกงามอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับกิเลสของคนที่ถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจของสมาธิหรือฌาน เมื่อสมาธิเสื่อมกิเลสจะเฟื่องฟูขึ้นมาทันที(7)
& แต่เมื่อมองอุทธัจจะว่าเป็นสังโยชน์อย่างหนึ่ง ซึ่งละเอียดอ่อนและทำลายได้ยากมาก ต้องอาศัยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน (insight meditation) เท่านั้น และผู้ที่จะทำลายสังโยชน์นี้ได้เด็ดขาดมีอยู่ประเภทเดียวเท่านั้น คือ พระอรหันต์ขีณาสพ ส่วนกุกกุจจะ ที่ทำให้จิตใจเกิดความรำคาญใจ และถือว่าเป็นความวิตกกังวล (anxiety) ในลักษณะหนึ่ง สามารถขจัดได้ด้วยพลังของสมาธิหรือสมถกรรม-ฐาน แต่เป็นการกดระงับหรือการข่มไว้ เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ส่วนวิปัสสนา-กรรมฐานสามารถทำลายกุกกุจจะได้ และผู้ที่จะทำลายกุกกุจจะได้โดยสิ้นเชิงนั้น ต้องเป็นอริยบุคคลขั้นพระอนาคามี(5)
ฉะนั้นความวิตกกังวลตามแนวคิดเชิงพุทธกับของจิตวิทยาตะวันตกจึงมีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ คำสอนทางพุทธศาสนา มีระเบียบวิธี ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ที่จะนำไปสู่การทำลายความวิตกกังวลได้โดยสิ้นเชิง ขณะที่จิตวิทยาตะวันตกยังไม่มีวิธีการเช่นนี้ มีเพียงแต่การบรรยายถึงสภาวะของจิตแต่ละชนิดเท่านั้น