การบริจาคโลหิตคือ การสละโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายไม่จำเป็นต้องใช้ เพื่อให้กับผู้ป่วยที่มีความต้องการ เป็นสิ่งที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายเลย
ผู้บริจาคโลหิต สามารถบริจาคได้ในทุกๆ ๓ เดือน เพราะเมื่อบริจาคออกไปแล้ว ภายในระยะเวลาที่กำหนด ไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิต ขึ้นมาทดแทนส่วนที่ขาดหายไป ให้โลหิตในร่างกายมีปริมาณเท่าเดิม ถ้าไม่ได้บริจาคหรือถ่ายเทออกไป ร่างกายก็จะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัว ซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้วเพราะหมดอายุ ออกมาในรูปของปัสสาวะ อุจจาระ หรือเหงื่อ อยู่เป็นประจำทุกวัน
เมื่อโลหิตมีความสำคัญยิ่งสำหรับชีวิตคนและสัตว์ เมื่อขาดโลหิตทุกชีวิตต้องตาย ให้ความหมายคล้ายต้นไม้ขาดน้ำ มีแต่จะช้ำเหี่ยวเฉาและแห้งตายไปในที่สุด
ผู้ป่วยที่มีอาการทรุดหนัก สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้เมื่อได้รับโลหิตทันต่อเวลา จากชีวิตสู่ชีวิต มอบโลหิตช่วยผู้ป่วย ให้เลือดให้ชีวิต บริจาคโลหิตเสริมชีวิตให้เป็นบุญ
การบริจาคโลหิตจึงถือว่าได้เสียสละสิ่งที่มีค่าที่สุดในร่างกาย ในชีวิตของคนเรา นอกจากจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ ที่ได้เสียสละโลหิตในร่างกายของตัวเอง ช่วยต่ออายุให้ชีวิตแก่คนป่วยที่กำลังจะตาย เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลแก่ผู้อื่นที่ได้รับโลหิตจากผู้บริจาคไปแล้ว สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ ผู้บริจาคได้ทราบหมู่โลหิต และได้ตรวจคุณภาพโลหิตของตัวเอง ได้รับการตรวจสุขภาพในทุกๆ ๓ เดือน
กรณีผู้บริจาคโลหิตตามกำหนด นอกจากจะได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ไวรัสตับอักเสบ ซี เชื้อไวรัสเอดส์ และเชื้อซิฟิลิส (กามโรค) แล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างเสริมเพิ่มพูนทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งยากที่ใครจะทำให้เกิดให้มีขึ้นได้ ย่อมได้รับอานิสงส์ส่งผลตามมาภายหลัง ดังคำที่ว่า ผู้ให้ย่อมได้รับการให้ตอบ ผู้ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ เช่นเดียวกับการให้ทานที่ยิ่งใหญ่อื่นๆ
การให้ทานโดยทั่วไปมี ๑๘ ประการ ดังที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถามโนรถปูรณี สีหนาทสูตร อังคุตตรนิกาย ๓/๒๓๕-๒๓๖ ดังนี้ คือ
๑.ทำให้ชีวิตมีความสุข
๒.เป็นรากฐานของสมบัติ
๓.เป็นบ่อเกิดแห่งโภคทรัพย์
๔.ช่วยต้านภัยให้ชีวิตได้
๕.ช่วยคุ้มครองป้องกันอันตราย
๖.ช่วยปูทางไปสู่สุคติ
๗.เป็นที่อาศัยได้
๘.เป็นที่พึ่งพิงได้
๙.ช่วยเสริมพลังใจให้เข้มแข็งได้
๑๐.เป็นทางเดินของบัณฑิต
๑๑.ได้เป็นเชื้อสายของพระพุทธเจ้า
๑๒.ทำให้ได้สมบัติในสวรรค์
๑๓.ทำให้ได้สมบัติพญามาร
๑๔.ทำให้ได้สมบัติพระพรหม
๑๕.ทำให้ได้สมบัติพระเจ้าจักรพรรดิ
๑๖.ทำให้ได้สาวกบารมีญาณ
๑๗.ทำให้สำเร็จปัจเจกโพธิญาณ
๑๘.ทำให้สำเร็จอภิสัมโพธิญาณ
การบริจาคโลหิต เป็นปรมัตถทานบารมีสูงสุดที่มนุษย์สามัญทั่วๆ ไปพึงทำได้ เพราะเป็นการให้ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตตนเพื่อนำไปช่วยต่อชีวิตให้ผู้อื่น ผู้ให้ย่อมเกิดความปีติ ความสุขทางใจ จากผลบุญของการให้ไร้ขีดจำกัดอย่างแน่นอน
นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นผลมาจากการบริจาคโลหิตโดยแท้ !!!
รุ่นพี่ของเราคนหนึ่ง อายุประมาณ 35 ปี ทำงานอยู่ที่ ทีพีไอ สำนักงานใหญ่
ซึ่งบริษัทมีสวัสดิการให้พนักงานตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี
ผลการตรวจล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว ปรากฎว่าพี่เค้าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว
ซึ่งคุณหมอก็งงเหมือนกัน เพราะเกือบทั้งหมดของคนที่เป็นโรคนี้มักเป็นมาแต่กำเนิด
หลังทราบผล พี่เค้าก็ไปปรึกษาคุณหมอ สรุปว่า ทางเดียวที่จะรอดได้ก็ต้องผ่าตัด
เพื่อดูว่าสามารถซ่อมลิ้นหัวใจได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนใหม่
หลังจากปรึกษาที่รพ.เซ็นหลุยส์ ค่าใช้จ่าย 3 -4 แสนบาท
จึงลองไปปรึกษาที่รพ. จุฬาฯ ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1 แสนกว่าๆ
จึงตัดสินใจไปผ่าตัดที่รพ. จุฬา ฯ
แต่ก่อนหน้านี้ พี่เค้าบริจาคเลือดทุก ๆ 3 เดือนมาโดยตลอด รวมทั้งหมดที่บริจาค 49 ครั้ง
และพี่เค้าก็ได้รับคำแนะนำมาว่าทางสภากาชาดจะช่วยเหลือในส่วนของค่าห้องในการพักรักษาตัวได้
จึงได้ไปขอจดหมายรับรองจากสภากาชาดไว้ว่าได้บริจาคเลือดจำนวนครั้งเท่านี้จริง
อย่างน้อยก็จะได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้บ้าง
พี่เค้าได้รับการผ่าตัดเรียบร้อยเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 48
วันที่ออกจากรพ. ก็ต้องไปเคลียร์ค่าใช้จ่าย ซึ่งทั้งหมดเป็นเงิน 110,000 บาท
แต่พี่เค้าต้องจ่ายจริง คือค่ายาเพียง 9,800 บาทเท่านั้น
เพราะสรุปว่า สภากาชาดออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้
เจ้าหน้าที่ของ รพ. แจ้งว่า ได้รับสิทธิ์เหมือนกับข้าราชการคนหนึ่ง
ส่วนของค่ายาที่ต้องจ่ายเองนั้น เพราะเป็นยาบัญชีประเภทสอง
ซึ่งถึงจะเป็นข้าราชการก็ต้องจ่ายส่วนนี้เองเหมือนกัน
เจ้าหน้าที่ยังแนะนำอีกว่า เพียงแค่คุณบริจาคเลือดกับสภากาชาดอย่างน้อย 24 ครั้ง
คุณก็จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้เหมือนที่รุ่นพี่เราได้รับไปแล้ว
นี่ถือเป็นโชค 2 ชั้นเลยนะ
ได้บุญจากการบริจาคเลือดแล้วยังเหมือนได้ประกันแถมมาอีก
ถ้าใครมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี ก็พยายามไปบริจาคเลือดไว้นะ
แต่ขอย้ำว่านับเฉพาะที่บริจาคไว้กับสภากาชาดเท่านั้น