ตัณหา เป็นหลักธรรมข้อหนึ่งในพุทธศาสนา หมายถึง ความติดใจอยาก ความยินดี ยินร้าย หรือติดในรสอร่อยของโลก
ตัณหา ประกอบด้วย ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ และ ตัณหาย่อมเจริญแก่ผู้ประพฤติประมาท
ตัณหา ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ครอบงำบุคคลใด ความโศกทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น ดังนั้น ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นบ่อยๆ เมื่อบุคคลยังถอนเชื้อตัณหาไม่ได้
ในหลักปฏิจจสมุปบาท ตัณหาเกิดจากเวทนาเป็นปัจจัย โดยมี อวิชชาเป็นมูลราก
ควรเห็นตัณหา เป็นดังเครือเถาที่เกิดขึ้น แล้ว จงตัดรากเสียด้วยปัญญา
ตัณหา แบ่งออกเป็น 3 อย่าง
- กามตัณหา คือ ความอยากหรือไม่อยาก ใน สัมผัสทั้ง 5
- ภวตัณหา คือ ความอยากทางจิตใจ เมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้ว ไม่ต้องการให้มันเปลี่ยนแปลง
- วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากทางจิต ความอยากดับสูญ
ควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละตัณหา 3 อย่างนี้
ตัณหา 6
ตัณหา 6 หมวด ได้แก่
- รูปตัณหา คือ อยากได้รูป (ที่มองเห็นด้วยตา)
- สัททตัณหา คือ อยากได้เสียง
- คันธตัณหา คือ อยากได้กลิ่น
- รสตัณหา คือ อยากได้รส
- โผฏฐัพพตัณหา คือ อยากได้โผฏฐัพพะ (ความรู้สึกทางกายสัมผัส)
- ธัมมตัณหา คือ อยากในธรรมารมณ์ (สิ่งที่ใจนึกคิด)
ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งตัณหาทั้ง6นี้ เป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์
ความดับโดยไม่เหลือ ความสงบระงับ ความสูญแห่งตัณหาทั้ง6นี้ เป็นความดับโดยไม่เหลือแห่งทุกข์
ตัณหาทั้ง 6 นี้ ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด
เวทนา ๒
เวทนา ๒ แบ่งการเสวยอารมณ์ ออกเป็นสองอย่าง คือ
- กายิกเวทนา หมายถึง เวทนาทางกาย การเสวยอารมณ์ทางกาย ความรู้สึกทางกาย
- เจตสิกเวทนา หมายถึง เวทนาทางใจ การเสวยอารมณ์ทางใจ ความรู้สึกทางใจ
เวทนา ๓
เวทนา ๓ แบ่งการเสวยอารมณ์ ความรู้สึก รสของอารมณ์ ออกเป็นสามอย่าง คือ
- สุขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกสุข สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม
- ทุกขเวทนา หมายถึง ความรู้สึกทุกข์ ไม่สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม
- อทุกขมเวทนา หมายถึง ความรู้สึกเฉยๆ จะสุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุเบกขาเวทนา
เวทนา ๕
เวทนา ๕ แบ่ง การเสวยอารมณ์ ออกเป็นห้าอย่าง คือ
- สุข หมายถึง ความสุข ความสบายทางกาย
- ทุกข์ หมายถึง ความทุกข์ ความไม่สบาย ความเจ็บปวดทางกาย
- โสมนัส หมายถึง ความแช่มชื่น ปลื้มใจ สุขใจ
- โทมนัส หมายถึง ความเสียใจ ความเศร้าโศก เศร้าหมอง ทุกข์ใจ
- อุเบกขา หมายถึง ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์
เวทนา ๖
เวทนา ๖ แบ่ง การเสวยอารมณ์ ออกเป็นหกอย่าง คือ
- จักษุสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางตา
- โสตสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางหู
- ฆานสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางจมูก
- ชิวหาสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางลิ้น
- กายสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางกาย
- มโนสัมผัสชา เวทนา หมายถึง เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางใจ
เวทนา เจตสิก
ในคัมภีร์พระอภิธรรม มีการกล่าวถึงเวทนา ในลักษณะที่เป็นเจตสิก(คือ ธรรมชาติที่อาศัยจิตเกิด) เรียกว่า เวทนา เจตสิก เป็นธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ จำแนกเป็น เวทนา๓ และ เวทนา๕ (ดังบรรยายไปแล้วข้างต้น)
เวทนา ตามหลักปฏิจจสมุปบาท
- เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา...
- เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ...
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง
ผู้ที่รู้สึกสุขเวทนา ย่อมเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ จึงมีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่
ผู้ที่รู้สึกทุกขเวทนา ย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไห้ คร่ำครวญทุ่มอก โกรธ หลง จึงมีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่
ผู้ที่รู้สึกอทุกขมสุขเวทนา ย่อมไม่ทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น ตามความเป็นจริง จึงมีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่